เจาะ Data เข้าใจลูกค้า อาวุธรับมือธุรกิจไร้ข้อจำกัด

ระดมบิ๊กเนมมาถ่ายทอดความรู้เต็มที่ในงาน “Digital Thailand Bigbang 2019” อีกเวทีที่น่าสนใจ คือ “Consumer Business in Asia”

“นริสสา ลิมปนาทร” Marketing Director B2B/B2C, Thailand at Zilingo แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซด้านแฟชั่นสำหรับ SMEs จากสิงคโปร์ ระบุว่า social commerce เป็นเทรนด์ที่มาแรงในอาเซียน โดยเฉพาะในไทย ซึ่งเชื่อว่าจะยังเติบโตได้อีกมาก

ในแง่ของ Zilingo ได้เห็นทิศทางตลาดช่วง 2-3 ปีนี้ชัดเจน จึงมุ่งเน้นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้ามาในตลาด และเน้นในลักษณะของ B2B (ธุรกิจต่อธุรกิจ) เพื่อแก้ปัญหาของ “ผู้ขาย” ให้แน่ใจว่าจะมี “ความสุข” ในการขาย และให้ความสำคัญในฐานะคู่ค้าที่จะนำส่งสินค้าไปสู่ผู้บริโภค

ออนไลน์-ออฟไลน์ “ไร้ข้อจำกัด”

โดยมุ่งแก้ 2 ปัญหาสำคัญ คือ เงินลงทุน-แหล่งทุน สำหรับคู่ค้าของบริษัท และเรื่องของอุปสงค์และอุปทานของสินค้า ที่ไม่ว่าจะเป็นการขายในประเทศใดก็ตามก็สามารถมีแหล่งผลิตได้จากทั่วโลก เพื่อให้โอกาสได้กับทุก ๆ คน

“เราช่วยเหลือผู้ขายในแง่เงินทุน ให้นำสินค้าไปขายก่อนได้ และช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีให้กับโรงงานผู้ผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้บริการทางด้านตลาด ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มให้คนขาย ไม่ว่าจะนำไปขายออนไลน์บนเว็บไซต์ หรือขายออฟไลน์ที่สถานีรถไฟฟ้า ก็สามารถจะเลือกได้ ถ้าเกิดคุณไม่มีเวลาทำเป็นแค็ตตาล็อก เราก็ทำให้ นั่นคือความพยายามที่จะลดแรงกดดันให้กับพ่อค้ากับคนขายของ”

ที่สำคัญคือ ปัจจุบันการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนแล้ว จำเป็นต้องสร้างช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงได้มากที่สุด และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

Big Data เคล็ดลับสำคัญ

โดยหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคล็ดลับหนึ่งของ “Zilingo” คือ big data การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำมาพัฒนาบริการและมองแนวโน้มอนาคต

“การเก็บและใช้ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญ จะต้องชัดเจนว่าเก็บอย่างไร เก็บมาใช้เพื่ออะไร หากว่าคุณทำได้ สินค้าของคุณก็จะตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

ท้องถิ่นมีความเฉพาะตัว

ด้าน “วรฉัตร ลักขณาโรจน์” Country Head GrabPay Thailand เปิดเผยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเชื่อมออนไลน์-ออฟไลน์ และการต้องการ “ความเร็ว” มากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าไปใช้บริการอย่างใดอย่างหนึ่ง

“Grab เป็น offline แต่ลูกค้าต้องเข้า online ก่อนแล้วถึงเข้ามาใช้บริการได้ ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชัด คือ ต้องการให้ได้ทุกอย่างเร็วขึ้น ไม่ว่าจะค้นหารถ สั่งอาหาร หรือแม้แต่การจ่ายเงิน จึงเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำให้กระบวนการในการให้บริการทุกอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค”

ขณะเดียวกันยังพบว่าความต้องการของผู้บริโภคในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความ “เฉพาะตัว” ตามบริบทของท้องถิ่นมาก

“ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ทางใต้ของประเทศไทย หรือในฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม แตกต่างกัน การให้บริการหรือเนื้อหาต่าง ๆ จะต้องให้เข้ากับท้องถิ่น ดังนั้น ในการที่บริการของแต่ละท้องที่ของ Grab เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์ใหญ่คือเอาศูนย์กลาง เอาท้องถิ่นแล้วก็ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ดูถึงสิ่งที่คนในท้องที่กำลังต้องการ นั่นคือบริบทของ Grab”

ขณะที่เทรนด์ในอนาคตที่ Grab จะเริ่มขยายบริการในปีนี้ คือ การให้บริการแบบ “ข้ามพรมแดน” สำหรับผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“คนในภูมิภาคนี้มีการเดินข้ามประเทศไปมา Grab ก็ให้บริการใน 8 ประเทศ โจทย์คือ ทำอย่างไรถึงจะให้ประสบการณ์ในเรื่องการเดินทางข้ามประเทศของลูกค้าเรา ทำได้ดีที่สุด สมมุติเราเดินไปมาเลเซีย สิงคโปร์ เราอยากจะได้รถ ใช้กับวอลเลตของไทยในการจ่ายค่าบริการอย่างไร แล้วขณะเดียวกัน ลูกค้าจากสิงคโปร์มาเมืองไทย เขาก็อยากจะจ่ายเงินโดยผ่านแอปพลิเคชั่นของเราได้ โดย Grab กำลังพยายามแก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ เราคิดว่าในเรื่องของข้ามพรมแดนก็จะเป็นแนวโน้มที่ใหญ่ในอนาคตทีเดียว”

“เข้าใจลูกค้าจริง ๆ” โจทย์สำคัญ

สำหรับเคล็ดลับในการทำธุรกิจให้สำเร็จนั้น Country Head GrabPay Thailand เปิดเผยว่า คือ “การเข้าใจลูกค้าจริง ๆ” ว่าต้องการอะไร ซึ่งกว่าที่ Grab จะเปิดตัวบริการใหม่ ๆ ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ต้องมีการศึกษาวิจัยอยู่นาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะตรงใจตลาดและเติบโตได้จริง

ทั้งต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่กำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกิจกรรมการเงิน เพื่อจะได้รู้ล่วงหน้าว่า ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้