คอลัมน์ สตาร์ตอัพ และปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
นาทีนี้ไม่มีแอปไหนครองใจวัยรุ่นมากไปกว่า TikTok แต่เพราะบุกตลาดอเมริกาได้ดีเกินไป เจ้าถิ่นทั้งรัฐและเอกชนจึงร่วมกันเตะสกัดดาวรุ่งจากแดนมังกรไม่ยั้ง
ทั้งที่เป็นเพียงโซเชียลมีเดียที่มีเครื่องมือตัดต่อวิดีโอกับสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ฮา ๆ แต่ความเรียบง่ายทำให้กลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกภายในไม่กี่ปี
12 เดือนที่ผ่านมามียอดโหลด 750 ล้านครั้ง ชนะแพลตฟอร์มใหญ่ทุกเจ้า
“เฟซบุ๊ก” มีแผนรับมือด้วยการ “ก๊อบปี้” ปล่อยแอปโคลนนิ่งชื่อ Lasso ออกสู่ตลาด แต่มียอดดาวน์โหลดแค่ 5 แสน ที่หยามสุด ๆ คือคลิป Lasso มียอด “ไลก์” แค่หลักสิบ
มีข่าววงในหลุดมาว่าเจ้าพ่อวิดีโอ YouTube กำลังซุ่มทำฟีเจอร์ตัดต่อวิดีโอตัวใหม่ “คล้าย ๆ TikTok”
ความโดดเด่นของ TikTok ยังสะกิด “ต่อมระแวง” ของนักการเมืองสหรัฐ “กังวล” ว่ารัฐบาลจีนอาจแทรกแซงด้วยการเซ็นเซอร์คอนเทนต์เข้าข่ายปิดหูปิดตาชาวโลก และแอบส่งข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกันไปให้รัฐบาลจีน
ByteDance เจ้าของ TikTok โต้ว่า รัฐบาลจีนไม่เคยแทรกแซงเนื้อหา ทั้งทีมดูแลนโยบายคอนเทนต์ก็อยู่ในสหรัฐ ข้อมูลผู้ใช้ TikTok ก็เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ที่อเมริกา และมีแบ็กอัพในสิงคโปร์ ไม่ได้อยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลจีน
และถึงจะเป็นบริษัทจีน แต่รัฐบาลจีนไม่เคยเข้ามาก้าวก่าย เพราะเป็นแอปที่พัฒนาขึ้นเพื่อขายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ คนจีนในเมืองจีนใช้แอปนี้ไม่ได้
Federal Trade Commission กล่าวหาว่า Musical.ly แอปสัญชาติอเมริกันที่ ByteDance ซื้อไปเมื่อ 2 ปีก่อน แอบเก็บข้อมูลผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับไป 5.7 ล้านเหรียญ เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา
ล่าสุดคณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาก็ขุดเอาดีลสมัย ByteDance ซื้อ Musical.ly ที่มีมูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญ มาสอบอีกรอบ โดยอ้างว่าตอนซื้อขายไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐ บวกกับความระแวงเรื่องความมั่นคงของสหรัฐ ทำให้แอปฮา ๆ แบบ TikTok โดนหางเลขไปด้วย
เจ้าของอย่าง ByteDance เป็นสตาร์ตอัพที่ใช้เวลาแค่ 7 ปี ผงาดขึ้นเป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในปัจจุบัน (7.8 หมื่นล้านเหรียญ) จึงโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
ByteDance เป็นเจ้าของแอปข่าวยอดนิยม Toutiao และ Douyin (TikTok เวอร์ชั่นจีน) ด้วย
“รอยเตอร์ส” ระบุว่า ครึ่งแรกของปีนี้ ByteDance ฟันรายได้ไป 8.4 พันล้านเหรียญ มีผู้ใช้รวมต่อเดือน 1.5 พันล้านคน
แต่หลังเจอมาตรการคุมเข้มของสหรัฐ อาจต้องคิดหนักว่าจะสยบยอมด้วยการทิ้ง Musical.ly (มีฐานลูกค้าเก่ากว่า 100 ล้านคน และเป็นฐานหลักที่ทำให้ขยายตลาดในอเมริกาได้รวดเร็ว) หรือโปรโมตในตลาดอื่นแทน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาตามแนวตะเข็บ “Belt and Road Initiative” อันเป็นยุทธศาสตร์หลักของจีน ในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลก
วันนี้ TikTok มีคนใช้ 150 ประเทศทั่วโลก เป็นไปได้ที่ ByteDance อาจถอนทัพกลับ comfort zone แต่หากอยากสู้ต่อเพื่อปูทางให้สินค้าอื่น เช่น แอปสื่อสารในองค์กรคล้าย Slack ที่บริษัทคาดหวังไว้มาก ก็อาจหยวนเหมือนที่บริษัทจีนรายอื่นยอม ไม่ว่าจะเป็น Kunlun Tech ที่ขายคืนแอปหาคู่ของชาว LGBTQ อย่าง Grindr หรือ Ant Financial ที่ยกเลิกการซื้อ MoneyGram International เพื่อคลาย “ความกังวล” ของสหรัฐ เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้
ไม่ว่าจะเลือกทางไหน TikTok สมควรได้รับการจารึกชื่อในฐานะ consumer app รายแรกในประวัติศาสตร์จีน ที่ “โกอินเตอร์” เต็มภาคภูมิ แถมตีแสกหน้าคู่แข่งรายใหญ่ได้ถึงฐานที่มั่น ทำให้ “ซิลิคอนวัลเลย์” ร้อนเป็นไฟ