เตรียมพร้อมสู่โลก AI เปิดบทเรียน EU ก่อนย้อนดูไทย

พัฒนาการของ AI ปัญญาประดิษฐ์ก้าวล้ำอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในชีวิตประจำวันและโลกธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันภาคสังคมทั่วโลกก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยให้เท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่นี้ ศูนย์ศึกษากฎหมายฝรั่งเศส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ “กฎหมายที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์มุมมองของประเทศฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป” ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงขั้นตอนการเตรียมความพร้อม และแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่คุ้มครองทั้งประชาชนทั่วไปที่อาจได้รับผลกระทบจาก AI และในฝั่งนักพัฒนา AI

“Alexandra Mendoza-Caminade” รองอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัย Toulouse Capitole ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะ ซึ่งสามารถ “ตัดสินใจ” ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีคนบังคับ แต่เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้มากขึ้น ตั้งแต่ในการแพทย์ การผลิต ไปจนถึงการทหาร

“ความกังวลที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือ การที่ต้องมีคนตกงาน เพราะมี AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะเข้าทดแทน ไปจนถึงความกังวลว่า ระบบจะถูกแฮกหรือไม่ ความปลอดภัยในการใช้งาน การจะกระทบสิทธิส่วนบุคคล”

ตั้งกองทุนเยียวยา

ด้วยลักษณะของทั้ง AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะ ทำให้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่ครอบคลุมไปถึง อาทิ ในเรื่องของ “ความรับผิด” ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจผิดพลาด ก็เป็นปัญหาว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้เดิมอาจจะมีการประเมินว่าสามารถปรับกฎหมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่อันตราย รวมถึงที่เกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยงหรือทรัพย์อันตรายมาใช้ได้ แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ไม่สามารถตีความมาบังคับใช้ได้ เพราะเป็นการกระทำที่เกิดจากการ “ตัดสินใจเอง” ของ AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะ เช่น กรณีที่ในปัจจุบันอาจเกิดขึ้นได้ อย่างรถยนต์ไร้คนขับชนคน หรือระบบ credit scoring ที่ให้คะแนนประวัติเครดิตผิดพลาด

“ในสหภาพยุโรป มีการผลักดันให้มีการตั้งกองทุนเพื่อเยียวยา กรณีที่เกิดความผิดพลาดจากการใช้ AI หรือหุ่นยนต์อัจฉริยะทั้งหลาย โดยกำหนดให้ต้องมีการแบ่งรายได้ที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีมาสำรองไว้ เพื่อชดใช้ความเสียหาย เพราะจริง ๆ แล้วกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมในส่วนนี้”

ตั้ง “นิติบุคคล” รองรับ

และด้วยศักยภาพของ AI รวมถึงหุ่นยนต์อัจฉริยะ สามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นสินค้าต่าง ๆ ได้ อาทิ ภาพเหมือนของ “เอ็ดมอนต์ เบลามี” ที่กลุ่มศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส “obvious” ใช้อัลกอริทึ่มสร้างขึ้น และถูกประมูลออกไปด้วยมูลค่ากว่า 4.35 แสนเหรียญสหรัฐ จึงเกิดคำถามว่า ลิขสิทธิ์ผลงานจะเป็นของใคร ในเมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์เดิมระบุว่า ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็น “คน-สิ่งมีชีวิต” ซึ่งในแง่ของกฎหมายแล้ว AI กับหุ่นยนต์อัจฉริยะไม่ใช่คน

“EU ใช้ทางออกด้วยการออกเกณฑ์เกี่ยวกับการตั้งนิติบุคคลรูปแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยให้บริษัทแห่งนี้เป็นผู้ทรงสิทธิในเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งบริษัทนี้จะมีสถานะทางกฎหมายที่แยกออกจากผู้พัฒนาและผู้ออกแบบ ซึ่งในเกาหลีใต้ได้มีการออกกฎหมายด้วยแนวทางนี้มากว่า 10 ปีแล้ว”

ภาษี AI-หุ่นยนต์อัจฉริยะ

ขณะที่ในแง่ของการจัดเก็บภาษี ทาง EU และฝรั่งเศสมองว่า จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ทางที่ถูกต้องควรจะเป็นการที่รัฐให้เงินสนับสนุนเพื่อวิจัยและพัฒนามากกว่าเรียกเก็บภาษีเข้ารัฐ

“แต่ปัจจุบันเริ่มมีกระแสเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีจาก AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะ หลังจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งรอบใหม่ว่าจะนำ AI กับ robotic มาแทนที่แรงงานคน ซึ่งจะทำให้คนตกงานจำนวนมาก จึงมีแนวคิดอาจจะเก็บภาษีจากบริษัทที่นำ AI และ robotic มาใช้เพื่อนำไปจ่ายชดเชยให้กลุ่มนี้”

จริยธรรม AI-สิทธิส่วนบุคคล

ข้อกังวลใหญ่สุดคือ ปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของ AI สหภาพยุโรปได้แก้ปัญหาด้วยการออกกรอบจริยธรรมของ AI เมื่อ 8 เม.ย. 2562 เพื่อให้ผู้ผลิตและนักออกแบบนวัตกรรมปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยมีหลักสำคัญ คือ AI ต้องส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มีกลไกการกำกับดูแลข้อมูลที่เพียงพอ มีความโปร่งใสในโมเดลธุรกิจและระบบ AI ให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ AI ต้องมีหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีอคติ มีการวางกลไกเพื่อให้มั่นใจว่าความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ รวมถึงมีการประกันการชดใช้ที่เข้าถึงได้อย่างเพียงพอ

ไทยควรเริ่มที่ “ยานพาหนะ”

ด้าน “ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ปัญหาด้านกฎหมายที่จะรองรับ AI และ robotic ก็เหมือนกับในฝรั่งเศสคือ ยังไม่มีกฎหมายใดที่จะมาปรับใช้ได้โดยตรง

“กฎหมายจราจรไทย บังคับใช้กับยานพาหนะที่มีคนขับ ฉะนั้นรถไร้คนขับก็ไม่เข้าข่าย หรือระบบ credit scoring ก็ไม่เข้าข่ายสินค้าอันตราย เพราะไม่ใช่ระบบไฟฟ้า ดังนั้นหากเกิดข้อผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ ของไทยไม่มีหลักอะไรรองรับเลย หากไทยจะเตรียมพร้อมควรจะเริ่มที่กลุ่มยานพาหนะ เพราะมีหลายองค์กรธุรกิจมีแนวคิดจะนำมาใช้แล้ว ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่โดรนปกติแล้วขยับไปสู่ยานพาหนะอัจฉริยะอื่น ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่จะนำไปใช้ในธุรกิจขนส่งต่าง ๆ”

โดยบัญญัติของกฎหมายในเกาหลีใต้มีความน่าสนใจจะนำมาปรับใช้ เนื่องจากมีการกำหนดกรอบไว้ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง