เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีผลกระทบต่ออีคอมเมิร์ซไทยอย่างไร

(Photo by China News Service/Visual China Group via Getty Images)

คอลัมน์ PAWOOT.COM
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ราชกิจจานุเบกษาประกาศเรื่องการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ในเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ภายใน EEC มีหลายคนให้ความสนใจว่าจะกระทบด้านใดต่ออีคอมเมิร์ซไทยบ้าง

สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐพยายามกระตุ้นให้เกิดใน EEC คือ ทำให้เป็นพื้นที่อีคอมเมิร์ซ

ขณะที่ “อาลีบาบา” มาลงทุนในไทย มาซื้อ Lazada ได้เป็นเจ้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเบอร์ต้น ๆ ของไทย

และเข้ามาลงทุนใน EEC ด้าน infrastructure เช่น สร้างแวร์เฮาส์เป็นจุดกระจายสินค้าไปทั่วอาเซียน

แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน คือ สินค้าจากเมืองจีนที่เข้ามากองอยู่ที่เมืองไทย ส่วนใหญ่มักพูดแต่ว่า นี่เป็น free trade zone กระจายสินค้าไปที่อื่น ๆ แต่ในมุมกลับ สินค้าเหล่านี้ก็จะเทเข้ามาในไทยด้วย

ตามปกติการนำสินค้าเข้ามาในไทยต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า แต่ “อาลีบาบา” ต้องการใช้เป็นที่พักสินค้าก่อนเพื่อส่งออกไปยังอาเซียน หรือกลุ่ม CLMV จึงออกพื้นที่พิเศษขึ้นมา ซึ่งก็คือ free trade zone

พื้นที่ตรงนี้เหมือนตั้งอยู่นอกประเทศ แม้อยู่ในประเทศ เพราะสินค้าที่มาอยู่ในที่นี้ยังไม่คิดค่าศุลกากรขาเข้า ซึ่งก่อนนี้ก็มีพื้นที่พิเศษแบบนี้มีหลายที่ เช่น พื้นที่ใกล้ ๆ สนามบินสุวรรณภูมิยังไม่มีการคำนวณภาษีศุลกากรเพราะถือเป็นที่ให้พักสินค้า ยังไม่มีการซื้อขายในประเทศ

ใน EEC มี free trade zone และเป็นพื้นที่ของ “อาลีบาบา” เมื่อมีการนำสินค้าเข้ามาแล้วและขายออกไปในประเทศไทย ตามปกติต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า แต่ถ้าผู้ซื้อปฏิเสธและส่งสินค้าคืน เท่ากับว่าสินค้าชิ้นนั้นจะส่งกลับเข้าไปใน free trade zone อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าหากเกิดขึ้นภายใน 14 วัน ของชิ้นนั้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ตรงนี้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ไปลงทุนใน EEC ทำให้มีข้อได้เปรียบมากขึ้น

มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความยืดหยุ่นตรงนี้ทำให้ผู้ค้าที่สนใจจะมาค้าในไทยโดยเฉพาะในรูปแบบอีคอมเมิร์ซที่ลดต้นทุนได้

เช่น ถ้าเป็นยักษ์ใหญ่เอาโทรศัพท์มือถือเข้ามากองอยู่ใน EEC ก่อน 1,000 เครื่องเท่ากัน ในราคาเท่ากัน เมื่อมีผู้ซื้อโทรศัพท์ 1 เครื่องในราคา 10,000 บาท เสียภาษีศุลกากรเหมือนกัน 200 บาท แต่จะเสียเพียงแค่เครื่องเดียวเฉพาะชิ้นที่ขายจริง แต่หากผู้ซื้อปฏิเสธภายใน 14 วัน โทรศัพท์เครื่องนี้จะคืนกลับมาที่ free trade zone อีกที

ภาษีศุลกากรที่เคยเสียไปจะโดนยกเลิกได้ แต่หากเกิน 14 วัน ผมเข้าใจว่าต้องเสียภาษีศุลกากร

ตอนนี้คนไทยนิยมซื้อสินค้าและจ่ายเงินปลายทาง เท่าที่ดูในตลาดค่าเฉลี่ยของการคืนสินค้าหรือปฏิเสธการรับสินค้าจะอยู่ที่ 5% นั่นหมายถึงผู้ค้าที่นำสินค้าไปกองไว้ที่ EEC จะยืดหยุ่นมากกว่า เพราะเสียภาษีเป็นชิ้น ๆ หากสินค้าตีกลับไปก็ไม่ต้องเสียภาษีชิ้นเลย เทียบกับผู้ประกอบการคนไทยที่นำเข้าถูกกฎหมาย นำเข้ามาลอตใหญ่ ที่ต้องเสียศุลกากรทั้งหมดเลย

ถามว่าได้เปรียบเยอะไหม จริง ๆ ก็ไม่เยอะมาก เพราะสัดส่วนการคืนสินค้าไม่มากเท่าไร เข้าใจว่าที่ภาครัฐพยายามออกกฎหมายนี้ ก็เพราะเขาอุตส่าห์แบกเงินมาลงทุนในบ้านเราเป็นหมื่น ๆ ล้าน

ส่วนการยกเว้นอากร 13 ปีที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จริง ๆ คนละเรื่อง ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องของภาษีนิติบุคคล ซึ่ง BOI ยกเว้นภาษีในส่วนนิติบุคคลให้ ฉะนั้นภายใน 13 ปี หรือช่วงเวลาหนึ่ง เขามีรายได้เท่าไรก็ไม่ต้องเสียภาษีให้ภาครัฐ เพราะถือว่าอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

ต้องบอกว่าการให้สิทธิพิเศษแบบนี้ BOI ให้เป็นปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากคุณทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี หรือธุรกิจที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมเป็นพิเศษ

ฉะนั้นถ้าทำธุรกิจ S-cruve แนะนำว่าให้ไปขอ BOI จะได้สิทธิพิเศษหลายอย่าง

ทำไมต่างชาติอยากมาลงทุนในประเทศไทย คำตอบคือเขาได้รับรายได้เต็ม ๆ ภาครัฐไม่เก็บภาษี นี่เป็นนโยบายจูงใจอย่างหนึ่ง นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเขาถึงเว้นภาษีให้ อาจดูเหมือนว่าเขาได้ประโยชน์มากกว่าเราเพราะรัฐส่งเสริมเหลือเกิน แต่มองอีกมุม รัฐอยากให้มีเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยด้วยเหมือนกัน


การลงทุนของอีคอมเมิร์ซจากจีนน่ากังวลมากกว่าของญี่ปุ่นที่มาตั้งโรงงานผลิตต่าง ๆ เพราะการลงทุนอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบามาลงทุน infrastructure แม้สิ่งที่เขาบอกคือนำสินค้าไทยเข้ามาอยู่ในนี้และกระจายออกไปสู่จีน แต่ในมุมกลับ เป็นการลงทุนใช้พื้นที่ของเราเท่านั้น และเอาสินค้าจีนเข้ามาเทกองไว้ในพื้นที่นี้ ต่างจากญี่ปุ่นที่เป็นการตั้งโรงงาน จ้างคนผลิตแล้วให้เราเป็นฐานส่งออก ต่างกันคนละโมเดลเลย