แผ่นดินไหวลาว 6.4 ไม่น่ากังวล ย้ำเขื่อนในไทยไม่อยู่บนรอยเลื่อน-รับมือขนาด 7.5 ได้ 

กรมอุตุยืนยันแผ่นดินไหวลาว ไม่น่ากังวล ย้ำเขื่อนในไทย ไม่อยู่บนรอยเลื่อน-รับมือแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ได้ 

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์  ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า กรณีที่เกิดแผ่นดินไหว ณ ประเทศลาว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 พ.ย. 2562 ขนาด 6.4 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างรุนแรง และมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา ขนาด 2.4-4.8 จำนวน 9 ครั้ง คาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนในประเทศ ลาวที่เชื่อมต่อจากรอยเลื่อนปัวในประเทศไทย ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2478 ขนาด 6.5 ในบริเวณเดียวกัน

“ก่อนหน้าการเกิด Mainshock ในครั้งนี้ มีการเกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว 12 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงค่ำเมื่อวาน เวลาประมาณ 23.49 ที่ผ่านมา และหลังจากเกิด Mainshock อาจจะมีการลดระดับความรุนแรงเป็น Aftershock ตามมาเรื่อยๆ ซักระยะ เป็นการคลายตัวของเปลือกโลก ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกตกใจ ในส่วนที่หลายคนกังวล เรื่องของ เขื่อน ยังมีความมั่นคงแข็งแรง กรมชลประทานดูแลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง รับรองการเกิดแผ่นดินไหวได้ถึงขนาด 7.5 และไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อน”

ด้านนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรอยเลื่อนมีพลัง คือการมีรอยแตกของแผ่นดิน มีการขยับตัวเนื่องมาจากแรงบีบอัด ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลแรงบีบอัดมาจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนหลักอยู่ 2 รอยเลื่อน คือ รอยเลื่อนสะกาย ในประเทศเมียนมา  และ รอยเลื่อนแม่น้ำแดง พาดผ่านมาทางตอนเหนือจากประเทศจีนมาถึงประเทศเวียดนาม เมื่อ 2 รอยเลื่อนนี้มีการขยับตัว จึงทำให้ช่วงที่ผ่านมา จะมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก เกิดการขยับตัวจำนวนมาก จะเห็นได้ชัดเจนว่าระยะหลังทางตอนเหนือของประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางหรือขนาดเล็กบ่อยครั้ง และการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้  รอยเลื่อนมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศลาว ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะมีการเฝ้าระวังอยู่ตลอด

อธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวเสริมว่า แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ แต่สามารถปฎิบัติตามคำแนะนำเพื่อให้เรานั้นปลอดภัยได้ เช่น อย่าอยู่ใกล้ตึกอาคาร หากอยู่ในอาคารก็ต้องอยู่ในที่หลบภัย ไม่ว่าจะเป็นเตียง หรือ โต๊ะที่ความมั่นคงแข็งแรง มากไปกว่านั้นคือการติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุฯ จากหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ