อินทัชลุยหาสตาร์ตอัพ5G ปั้นอีโคซิสเต็มเสริมแกร่งAIS

“อินทัช” เดินหน้าอัดเงินร่วมทุนสตาร์ตอัพปีนี้จัดแล้ว 250 ล้านบาท เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่ยังเดินหน้าเสาะหาดาวเด่นสร้างอีโคซิสเต็ม 5G ช่วยเสริมแกร่ง “AIS”

นายณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล หัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อินทัชได้ลงทุนในสตาร์ตอัพผ่านโครงการอินเว้นท์ (InVent) แล้ว 20 ราย เฉพาะปีนี้มูลค่าลงทุนรวมกว่า 250 ล้านบาท เกินกว่า 200 ล้านบาทที่ตั้งไว้

ล่าสุดคือ Doctor A to Z 12 ล้านบาท และมีอีก 2 ราย คือสตาร์ตอัพด้านโลจิสติกส์จากต่างประเทศ ลงทุน90 ล้านบาท สูงที่สุดที่เคยลงทุน

และสตาร์ตอัพด้านคลาวด์ฟันดิ้งสำหรับประเมินสินเชื่อ SMEs ลงทุนราว 40 ล้านบาท

ส่วนแผนปีหน้า ยังตั้งงบประมาณไว้ที่ 200 ล้านบาท เน้นสตาร์ตอัพที่จะเข้ามาสร้างอีโคซิสเต็มด้าน 5G อาทิ IOT, smart city เพื่อให้ AIS สามารถให้บริการโซลูชั่น 5G ได้ทันที

“ปีนี้เราลงทุนมากขึ้น เพราะต้องมองหาสตาร์ตอัพจากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการลงทุนสูง แน่นอนว่าเราอยากสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย แต่ถ้าจะใช้งานได้จริงสตาร์ตอัพต่างชาติจะเหมาะกว่า และปีต่อไปเราจะเน้นที่ 5G”

ปัจจุบันอินทัชลงทุนในสตาร์ตอัพรวมกว่า 1,100 ล้านบาท 90% เป็นบริษัทไทย โดยมี 5 รายที่เอ็กซิตแล้ว รวมมูลค่าราว 120 ล้านบาท ขณะที่สตาร์ตอัพที่เหลือมีมูลค่าของบริษัทเติบโตรวม 30-40% มีรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาท อัตราผลตอบแทน 20% ต่อรายต่อปี โดยครึ่งหนึ่งทำกำไรได้แล้ว

สำหรับภาพรวมของสตาร์ตอัพประเทศไทยยังมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี คาดว่าปีนี้มีสตาร์ตอัพที่แอ็กทีฟประมาณ 2,000-2,500 ราย แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ seed

ขณะที่ระดับซีรีส์ A-B รวมกันยังไม่ถึง 100 ราย เนื่องจากตลาดไทยไม่ใหญ่พอ ส่งผลให้สเกลได้ยาก แต่ในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพดีขึ้น เพราะได้เรียนรู้มากขึ้น กองทุน CVC ขององค์กรขนาดใหญ่ก็มีมาก พร้อมจะลงทุนและซัพพอร์ตการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของสตาร์ตอัพคือ เทคโนโลยี บางบริษัทมีความสามารถด้านเทคโนโลยีสูง แต่การขยายธุรกิจของสตาร์ตอัพต้องตั้งเป้าไกล ไม่เช่นนั้นเงินจะหมดก่อนที่จะระดมทุนรอบใหม่

ดังนั้นต้องแม่นในการวางกลยุทธ์ ซึ่งสิ่งที่สตาร์ตอัพไทยต่างจากต่างประเทศคือ ผู้ก่อตั้งมักเป็นผู้บริหาร ขณะที่ต่างประเทศจะจ้าง CEO เก่ง ๆ มาดูแล และต้องคิดไประดับโลกมากกว่านี้

“สตาร์ตอัพไทยต้องก้าวไปต่างประเทศ ตอนนี้เวียดนามทุ่มเทกับสตาร์ตอัพมาก ทั้งที่เราทำสตาร์ตอัพมาก่อนเขา และตอนนี้หลายประเทศในอาเซียนมียูนิคอร์นหมด ดังนั้นเราต้องคีปโมเมนตัม ส่วนในด้านกฎหมายภาครัฐก็พยายามเร่งผลักดันอยู่ แต่มองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ จุดสำคัญต้องพยายามที่ตัวเองก่อน”