
เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ต้องเฝ้าจับตานับจากหมดยุคสัมปทานที่ส่งผลให้รายได้ลดฮวบฮาบ ท่ามกลางการแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจสื่อสารและกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) แม่ทัพธุรกิจที่นั่งในตำแหน่งนี้มาแล้ว 5 ปี ดังนี้
Q : ปีนี้กำไร 37,000 ล้าน
ป็นปีที่มีรายได้พิเศษเข้ามา ก็เพราะได้ดีลระงับข้อพิพาทสัมปทานกับดีแทค และชนะคดีค้างเก่า แต่ในปีหน้าจะไม่มีรายการพิเศษแล้ว ประเมินว่ารายได้จะอยู่ที่ 39,600 กำไร 200 ล้านเน้นธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส ปีหน้าจะโฟกัสต่อ
Q : คู่แข่งก็เยอะมาก
ตลาดใหญ่มาก ตลาดไอโอทีเซอร์วิสมีมูลค่ามหาศาล ทุกหน่วยต่างต้องการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนองค์กร แคทไม่ได้ต้องการครองมาร์เก็ตแชร์รายเดียว แต่ต้องการโฟกัสเฉพาะตลาดที่เชี่ยวชาญ จึงโฟกัสภาครัฐเพราะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจปัญหาไอทีภาครัฐได้ดีกว่าภาครัฐด้วยกัน
Q : แต่เป็นหน่วยงานรัฐก็ช้า
แต่ก็มีจุดแข็งที่เป็นหน่วยงานรัฐ จุดด้อยในฐานะภาครัฐเองก็ไม่ใช่จะสั่งซื้อทุกอย่างได้ปุ๊บปั๊บ ต้องขอตั้งงบประมาณไว้ แต่ก็ได้แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนโมเดลในการทำตลาดด้วยการเข้าไปเสนอวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละหน่วยงานด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร แล้วแคทลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้หน่วยงานเข้ามาใช้ เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพประสิทธิผลก่อนค่อยเบิกจ่ายงบประมาณมาซัพพอร์ต
Q : คู่แข่งเด่นมากเรื่องเทคโนโลยี
ดิจิทัลเซอร์วิสเป็นเรื่องใหม่ คู่แข่งในวงการเดียวกันไม่ได้ต่างจากแคทมากนัก ที่กังวลคือคู่แข่งจากภายนอกที่รุกคืบสู่ธุรกิจเทคโนโลยีมากกว่า อย่าง ปตท. SCB KTB ฯลฯ แต่ถ้าเอ็นจอย กับธุรกิจอินฟราสตรักเจอร์อย่างเดียว อนาคตก็จะไปไม่รอด อีกทางคือสปินออฟ ตั้งบริษัทลูก มีเอกชนมารับงานจากแคท มีคนแคทไปอยู่ด้วย หากแคทถือหุ้นไม่เกิน 25% ผลักดันได้โดยไม่ต้องเข้า ครม. แต่ต้องเจรจาเป็นออปชั่นขยับสิทธิ์ในการถือหุ้นเพิ่มได้ แบบนี้จบที่บอร์ดได้
Q : แบบนี้แคทไม่ต้องมีคลื่นแล้ว
ไม่เชิง เพราะบริการดิจิทัลโซลูชั่น ผู้ที่มีทั้งเซอร์วิสและอินฟราสตรักเจอร์ยังได้เปรียบกว่า คลื่นความถี่ก็เป็นอินฟราสตรักเจอร์ ส่วนแคทจะเข้าประมูลคลื่นหรือไม่ ต้องศึกษาก่อน เพราะถ้าจะทำบริการแบบแมสแข่งกับโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อาจไม่คุ้มค่า แต่ถ้าใช้เฉพาะพื้นที่ในโซนนิคมอุตสาหกรรม ก็น่าสนใจ
Q : ปัญหาจากที่ไม่ได้ควบรวมกับทีโอที
ทำให้เกิดความชะงักงัน เราจะลงทุนบางสิ่งอย่างถ้าควบรวมแล้วอาจกลายเป็นการลงทุนซ้ำซ้อน อย่างท่อร้อยสายโทรคมนาคมลงใต้ดินควรมีคนลงทุนคนเดียวหรือการทรานส์ฟอร์มองค์กร ใช้งบสูงต้องทำทั้งโครงสร้าง แต่ถ้าควบรวมจะกลายเป็นเสียเปล่าต้องทำใหม่และมีค่าที่ปรึกษา ถ้าจะบอกเลยว่าไม่ก็จะได้ศึกษาเรื่องประมูลคลื่นในอีกรูปแบบ เรื่องอื่นด้วยระหว่างการควบรวมกับไม่ควบรวม
Q : มองว่าควรเดินหน้าควบรวมต่อไหม
ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ต้องถามว่า วัตถุประสงค์ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร คือ 1.ลดความซ้ำซ้อน 2.เพิ่มประสิทธิภาพ การควบรวมช่วยลดซ้ำซ้อนได้แน่ แต่เพิ่มประสิทธิภาพได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่ทำเสร็จได้ทันที ใช้เวลา 1-3 ปี ให้ครบทั้งกระบวนการ เอาเป็นว่าดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ เห็นเทรนด์อยู่แล้วว่าเพียวบิสซิเนสแบกรับอะไรไว้บ้าง ถ้าไม่ทำอะไรจะอยู่กันอย่างไร
Q : อุปสรรคปีหน้า
ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เอกชนทุกรายต้องการทำเป้าให้ได้การแข่งขันก็จะยิ่งสูงขึ้น ขณะที่ภาครัฐมีเงินมากที่สุด เอกชนทุกรายก็จะวิ่งเข้ามาที่ภาครัฐและคล่องตัวกว่า ซึ่งแคทก็ตั้งเป้าจะทำให้รายได้ภาครัฐโตขึ้นถึงพยายามผลักดันการตั้งบริษัท JV 4-5 แห่ง เริ่มกับเนคเทคก่อน
Q : สิ่งที่อยากทำก่อนหมดวาระ ส.ค. 63
1.เคลียร์ข้อพิพาทค้างเก่าอย่างค่า IC ภาษีสรรพามิตของดีแทค ทรู ฮัทชิสัน พยายามเคลียร์ให้เสร็จในไตรมาสแรกปีหน้า 2.การตั้งบริษัทลูกตั้งต้นสักสองบริษัททำดิจิทัลเซอร์วิส 3.ความชัดเจนเรื่อง PPP ดาวเทียมไทยคม ครึ่งปีแรกยังไม่ชัดก็น่าจะลำบาก เพราะสัมปทานหมด ก.ย. 2564
สุดท้ายที่อยากทำ คือดิจิทัลอคาเดมี พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของคนทั้งในและนอกแคทแบบเลิร์นนิ่งบายดูอิ้ง ปัญหาขาดคนเรา และการพัฒนาทักษะไม่ได้แก้ในวันสองวัน ระหว่างที่สร้างคนก็จะ ทำธุรกิจกับพาร์ตเนอร์อนาคตอาจไม่สดใส แต่ยังมีช่องทางให้โตได้แต่ต้องบาดเจ็บและทำให้ขนาดองค์กรเล็กลง อีก 3 ปี พนักงานจะเกษียณไปครึ่ง จะรับคนใหม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบ เป็นโฮลดิ้งคอมปะนี อินฟราสตรักเจอร์อยู่ที่แคท นิวเซอร์วิสไปอยู่ที่บริษัทลูก