ค่ายมือถือ “สามัคคีชุมนุม” รุมติงเกณฑ์ประมูล 5G “กสทช.”

บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักสำหรับ เวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz  2600 MHz และ 26 GHz

หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า เกณฑ์ประมูล 5G

โดยผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายหลักของประเทศอย่าง เอไอเอส ทรู ดีแทค รวมถึง บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) ต่างตั้งข้อสังเกตและท้วงติงในหลายอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้ง 3 ค่ายใหญ่ต่างออกตัวแรงเหมือนกัน โดยก่อนขึ้นแสดงความเห็นจะต้องกล่าวว่า “หลักเกณฑ์ใดที่เห็นด้วย ไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าประมูล และเกณฑ์ใดที่ไม่เห็นด้วยหรือทักท้วงก็ไม่ได้แปลว่า จะไม่เข้าประมูล”

‘’2600 MHz” คลื่นฮิตที่ถูกพูดถึง

ขณะที่การประมูลซึ่ง กสทช. ปักธงไว้ 16 ก.พ. 2563 จะมีคลื่นออกประมูลทั้งหมดถึง 4 ย่านคลื่น คือ  700 MHz 1800 MHz  2600 MHz และ 26 GHz

แต่คลื่น 2600 MHz คือ คลื่นที่ “ฐากร  ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. มั่นใจว่ อย่างน้อยในการประมูล 16 ก.พ. 2563 จะต้องมีการเคาะราคาประมูลคลื่นย่านนี้แน่นอน เพราะนำไปใช้งาน 5G ได้ทันที

และเป็นย่านความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ให้ความสำคัญ โดย “จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์” รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการจะผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นจริง ก็ควรจะนำคลื่นออกมาประมูลเฉพาะย่าน 2600 MHz เพื่อให้เอกชนได้เก็บเงินไว้ลงทุนในเรื่องอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ 5G ในไทยเกิดขึ้นได้ภายในปี 2563 ตามที่รัฐบาลต้องการ

“แต่ก็หมายถึงจะต้องมีความชัดเจนด้วยเช่นกันว่า  คลื่น 2600 MHz จะใช้ได้เท่าใด ในพื้นที่ใดบ้าง แล้วที่ใช้ไม่ได้จะใช้ได้เมื่อใด”

ฟาก “กิตตินันท์ พจน์ประสาท”  ผู้แทนจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ระบุว่า คลื่น 1800 MHz เหมาะกับการใช้งานเทคโนโลยี 4G มากกว่า 5G ส่วนคลื่น 700 MHz บริษัทก็มีคลื่นย่านนี้อยู่แล้ว และยังมีปัญหาคลื่นรบกวน ประกอบกับเป็นคลื่นที่มีราคาแพงทั้ง 2 ย่านความถี่ จึงไม่น่าสนใจ เช่นเดียวกัน คลื่น 26GHz ที่ยังไม่มีการลงทุนใดๆ ในตลาด

ส่วนคลื่นย่าน 2600MHz ยังเป็นคลื่นที่มีปัญหาในการรีฟาร์ม  จึงยังไม่น่าสนใจเช่นกัน ฉะนั้น  กสทช.ควรเลื่อนการประมูล เพื่อไปแก้ไขปัญหาแบบการประมูล การเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz จากบมจ.อสมท. และเรียกคืนคลื่นความถี่ 28 GHz จาก บมจ.ไทยคม เพื่อนำมาประมูล

ขณะที่ “รังสรรค์ จันทร์นฤกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที เปิดเผยว่า  คลื่น 2600 MHz เป็นย่านความถี่ที่ ทีโอที  สนใจเข้าร่วมประมูล แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องเงื่อนไขการลงทุนขยายโครงข่าย เพดานการถือครองคลื่นที่อาจกระทบกับการแข่งขัน  เช่นเดียวกัน กับ “ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่  บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่ท้วงติงเรื่องเพดานการถือครองคลื่น 2600 MHz

 คลื่น 3500 MHz คือสิ่งที่ต้องการ

ด้าน “นฤพนธ์ รัตนสมาหาร” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  (ดีแทค)  ย้ำไปในทางเดียวกันว่า คลื่นย่าน 2600 MHz ที่ กสทช. จะนำออกประมูล 190 MHz นั้น ไม่เพียงพต่อการให้บริการ 5G ทั้งยังมีปัญหาบางช่วงคลื่นที่ใช้งานไม่ได้ ยังติดปัญหาชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซียและกัมพูชา

“เท่ากับว่า มีคลื่นที่ใช้งานได้จริงเพียง 170 MHz  และหากมีการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นไม่เกินรายละ 100 MHz  ก็อาจจะทำให้มีโอเปอเรเตอร์แค่ 2 รายได้ไป  จึงควรปรับเกณฑ์เพดานถือครองคลื่นใหม่ อาจปรับลดเหลือรายละ 70-80MHz”

คลื่นที่เหมาะสมกับ 5G ที่สุดคือ คลื่น 3500 MHz ซึ่งมีแถบคลื่นกว้างพอใช้งาน 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ  ฉะนั้น กสทช. จะต้องมีแผนการประมูลคลื่นย่านนี้ที่ชัดเจน เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ได้ตัดสินใจ เพราะการประมูลแต่ละครั้งใช้เงินจำนวนมาก ราคาคลื่นไม่ได้ถูกมากอย่างที่ กสทช. ระบุไว้ ซึ่งราคามีผลต่อการลงทุนทั้งหมด