5G “กสทช.” เสี่ยงวืด ค่ายมือถือไม่การันตีเข้าประมูล

16 ก.พ. 2563 ทั้ง “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ “ดีอีเอส” กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต่างประกาศปักธงชัดเจนว่าจะจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G

แต่ท่าทีของทั้ง 3 ค่ายมือถืออย่างเอไอเอส, ทรู และดีแทค ผู้ที่ต้องรับภาระจ่ายเงินค่าคลื่น เหมือนจะยังไม่ยินดีกับร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล ย่าน 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz, 26 GHz ที่ กสทช.เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะตั้งแต่ 3 ธ.ค. 2562 เท่าใด

แม้ก่อนหน้านี้จะออกมาสนับสนุนการทดลองทดสอบเทคโนโลยี 5G ที่ทั้ง กสทช.และดีอีเอสจัดขึ้น

เคลียร์ “ไทยคม” งานด่วนต้องทำ

โอเปอเรเตอร์รายใหญ่อย่าง “เอไอเอส” แหล่งข่าวภายใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กสทช.ควรนำคลื่นย่าน 3500 MHz ซึ่ง บมจ.ไทยคมใช้งานอยู่นำออกมาประมูลล่วงหน้า ไม่ต้องรอให้สิ้นสุดสัมปทาน ก.ย. 2564 แต่นำมาประมูลพร้อมกับการประมูลในครั้งนี้หรือให้เร็วที่สุด เพื่อให้ชัดเจนว่าโอเปอเรเตอร์จะมีคลื่นมากพอสำหรับให้บริการ 5G

“คลื่น 3500 MHz เป็นย่านสำคัญ มีประเทศนำไปใช้ 5G มากกว่าย่าน 2600 MHz แล้ว ไทยไม่จำเป็นต้องอิงกับเทคโนโลยีจากฝั่งจีนอย่างเดียว กสทช.ควรรีบเคลียร์กับไทยคมเพราะมีอยู่มากถึง 700 MHz สามารถบีบอัดเพื่อนำมาประมูลได้อีกมาก ในส่วนของคลื่น 2600 MHz ก็ต้องเร่งเจรจากับ บมจ.อสมท ให้เรียบร้อย ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงในการประมูล จะมั่นใจได้อย่างไรว่าชนะประมูลแล้วนำไปใช้งานได้ แล้วยังมีส่วนของกองทัพที่ใช้อยู่ด้วย อาจเกิดปัญหาคลื่นกวนกันได้อีก ทั้งหมดเป็นงานที่ กสทช.ควรเร่งทำก่อนประมูล”

ไม่ใช่แค่คลื่นต้องหนุนรอบด้าน

สอดคล้องกับฝั่ง “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ที่แหล่งข่าวเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การนำคลื่น 3500 MHz ออกมาประมูลพร้อมกันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเปิดให้บริการ 5G เพราะโอเปอเรเตอร์ต้องการคลื่นอย่างน้อย 100 MHz เพื่อให้บริการ 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ

แต่คลื่น 2600 MHz ที่ กสทช.นำออกประมูล แม้จะมีคุณสมบัติทางเทคนิคใกล้เคียงกัน แต่มีแถบคลื่นแค่ 190 MHz แถมยังมีอีก 20 MHz ที่มีผู้ใช้งานอยู่ เท่ากับเหลือคลื่นให้ใช้ได้แค่ 170 MHz ไม่เพียงพอสำหรับ 3 โอเปอเรเตอร์

ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่การจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ กสทช.จะต้องรื้อกฎระเบียบอื่น ๆ ที่ไม่เอื้อต่อการขยายโครงข่าย 5G ที่จำเป็นต้องปูพรมเน็ตเวิร์กจำนวนมาก

“อย่างการติดตั้งอุปกรณ์บนสถานีฐานและเสาเดิมที่แต่ละรายมีกว่าหมื่นต้น ตามระเบียบเดิมคือต้องขออนุญาตใหม่ทุกครั้ง ต้องติดประกาศ ต้องเข้ากระบวนการประชาพิจารณ์กับชุมชนในพื้นที่ ทั้งที่ก็เป็นเสาเดิม หรือข้อจำกัดในการติดอุปกรณ์ต่อเสาก็ยังคงล้าหลังไม่ทันเทคโนโลยี”

เริ่มต้นก็เริ่มเสี่ยง “ล้มเหลว”

ฟาก “ดีแทค” รายแรกที่ออกตัวแรง ตั้งโต๊ะเปิดความเห็นและข้อเสนอต่อร่างหลักเกณฑ์การประมูล”มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ระบุว่า ด้วยราคาเริ่มต้นการประมูลที่ กสทช.กำหนดไว้ อาจก่อให้เกิดความ “ล้มเหลว” ในการประมูลได้ โดยเฉพาะในส่วนของคลื่นย่าน 1800 MHz ที่ถือว่า “แพงมาก” จนอาจไม่มีผู้ประกอบการสนใจเข้าประมูล

ขณะที่คลื่นที่จำเป็นสำหรับบริการ 5G อย่าง 2600 MHz ที่ตั้งไว้จะทำให้ค่าคลื่นของไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสิงคโปร์และอินเดีย ต่างกับประเทศส่วนใหญ่ที่เปิดประมูลต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

“ด้วยราคาคลื่นเท่านี้เสี่ยงที่จะทำให้ 5G ของไทยล้มเหลวจากการมีคุณภาพและค่าบริการที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ สำหรับดีแทคมองว่า 5G ต้องมาแน่นอน จึงพยายามคิดหาวิธีที่จะเริ่ม 5G ที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ซึ่งหมายถึงภาครัฐต้องหาสมดุลระหว่างการหารายได้เข้ารัฐจากเงินประมูลกับผลประโยชน์ระยะยาวที่จะเกิดจากการลงทุนโครงข่ายและเปิดให้บริการ 5G”

เลื่อนประมูล = ทางออก

ดังนั้นข้อเสนอของดีแทคคือ “เลื่อน” การประมูลออกไปก่อน เพื่อให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลใหม่ ได้แก่

1. การกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่เดิมกำหนดไว้

100 MHz ต่อโอเปอเรเตอร์ จึงมีความเสี่ยงว่าอาจจะมีแค่ 2 โอเปอเรเตอร์ที่ได้คลื่นไป

2. เปลี่ยนเงื่อนไขให้ผู้เข้าประมูลคลื่น 2600 MHz สามารถเลือกบล็อกคลื่นที่ต้องการได้ตั้งแต่ในขั้นตอนของการประมูล เนื่องจากเป็นย่านคลื่นที่ยังมีผู้ใช้งานอยู่ในบางบล็อกคลื่น

3. กำหนดให้นำคลื่นย่าน 3500 MHz นำออกมาประมูลพร้อมกัน หรือกำหนดให้ชัดเจนว่าจะมีการประมูลเมื่อใด

“คลื่น 3500 MHz ถือว่าเป็นระบบหลักของ 5G ที่ประเทศอื่น ๆ ในโลกใช้ ขณะที่คลื่น 2600 MHz มีผู้ใช้งานเพียง 2 ค่ายคือ China Mobile ในจีน และ Sprint ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีผู้ใช้งานมากกว่าย่อมทำให้ค่าอุปกรณ์เน็ตเวิร์กต่าง ๆ ถูกกว่า ซึ่งเป็นประโยชน์ในการขยายเน็ตเวิร์ก และที่เสนอให้เลื่อนเวลาออกไป ก็เป็นเพียง 2-3 เดือน หรือจะเป็นกำหนดเดิม 16 ก.พ.ก็ได้ แต่ต้องให้ชัดเจนเรื่องคลื่น 3500 MHz ว่าจะประมูลอย่างไรเมื่อใด เพื่อให้โอเปอเรเตอร์วางแผนลงทุนได้”

4. เพิ่มการวางเงินค้ำประกันการประมูลให้มากกว่า 10% ที่กำหนดไว้เดิมเพราะ 5G เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องใช้ “คนที่ตั้งใจ” และพร้อมจะเข้ามาลงทุนอย่างจริงจัง ป้องกันการปั่นราคาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ค่ายมือถือไม่ชัวร์จะเข้าประมูล

แต่เมื่อถามตรง ๆ กับแต่ละโอเปอเรเตอร์ว่า ถ้า กสทช.ไม่เปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลตามข้อเสนอ ยังจะเข้าประมูลหรือไม่ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร ดีแทค กล่าวว่า ณ ปัจจุบันทุกอย่างยังเป็นแค่ “ร่าง” หลักเกณฑ์ ดีแทคจะพิจารณาว่าเข้าประมูลหรือไม่ ต่อเมื่อ กสทช.ประกาศชัดเจนอย่างเป็นทางการ ซึ่งตามกำหนดที่ กสทช.ระบุไว้คือ จะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 27 ธ.ค. เมื่อถึงเวลานั้นถึงจะพิจารณาตัดสินใจ

เช่นเดียวกัน แหล่งข่าว “เอไอเอส” และ “ทรู” กล่าวในทางเดียวกันว่า ยังไม่แน่ใจ จะต้องพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์ทางการอีกครั้ง เพราะราคาเริ่มต้นคลื่นแพงมาก