ยุคที่ใคร ๆ ก็ปล่อยกู้

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ไม่นานมานี้ผมได้ไปงาน Singapore FinTech Festival 2019

โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นงานฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำบริษัทฟินเทคเกือบทั่วโลกและจากรัฐบาลหลายประเทศมาโชว์เรื่องฟินเทค ไทยเองก็มีแต่อาจเป็นบูทไม่ใหญ่นัก

มีหลายบูทน่าสนใจมาก อย่าง Google เริ่มบุกเข้ามาในเพย์เมนต์ชื่อ Google Pay ในฝั่งอเมริกาเริ่มมีระบบนี้ในมือถือ Android แล้ว และดูเหมือนว่าปีหน้า Google Pay จะเข้ามาในไทย และเราคงเห็น Apple Pay ใน iPhone เช่นเดียวกัน

ปีหน้าระบบชำระเงินจะสนุกสนานมากขึ้นและสถาบันการเงินหรือธนาคารที่มีรายได้จากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมจะยิ่งเหนื่อยมาก เพราะผู้เล่นยักษ์ใหญ่จะกระโดดเข้ามามาก อย่าง Grab เองก็ทำ GrabPay หรือผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซทุกเจ้า ทั้ง Lazada, Shopee, Central JD, ปตท. ฯลฯ ต่างทำระบบเก็บเงินหรือวอลเลตของตนเองขึ้นมา

นั่นหมายถึงเมื่อมีคนมา top up หรือมาฝากเงินไว้ในวอลเลต เงิน หรือ float เหล่านั้นจะไปกองอยู่ในระบบนิเวศหรือแอปพลิเคชั่นนั้น การจะเชื้อเชิญหรือทำให้คนมาซื้อสินค้าหรือบริการต่อเนื่องก็ทำได้ไม่ยาก

และยังมีบูทเกี่ยวกับการปล่อยกู้มากมาย ทั้งที่เป็นสตาร์ตอัพและบริษัทเทคโนโลยีที่กระโดดเข้ามาทำจำนวนมาก

พวกนี้มาทำเรื่อง big data การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ การตรวจสอบข้อมูลลูกค้า การทำ e-KYC ทำระบบ open banking เป็นแพลตฟอร์มให้ธนาคารหรือบริษัทประกัน ฯลฯ

แม้แต่บริษัทที่ทำเกมงูเขียว Razer ก็ทำระบบชำระเงินชื่อ Razer Pay ซึ่งสิ่งที่ทุกคนมุ่งไปคือการปล่อยกู้นั่นเอง

ฉะนั้นขอบเขตของอุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมจะเริ่มต่ำลง หรือ AIS เริ่มปรับจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มาเป็นแพลตฟอร์ม เพราะมี data ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ความจริงเขายังปล่อยกู้หรือขายประกันได้อีกด้วยซ้ำ

ตอนนี้ไม่ต้องมองแล้วว่าใครคือคู่แข่งเพราะกระโดดข้ามกันไปมา อย่างที่ผมไปคุยกับ Wongnai.com ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารมากมายก็ปล่อยกู้ให้ร้านอาหารได้ ตอนนี้เป็นยุคที่ใครทำดิจิทัลหรือธุรกิจอะไรก็ตาม นึกอะไรไม่ออกก็ทำปล่อยกู้ไว้ก่อน

ในยุคนี้ใครที่มี data จะมีความได้เปรียบมาก ในแง่ของธนาคารจะมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันมากขึ้นโดยเฉพาะในแหล่งรายได้หลัก แต่ธนาคารก็พยายามไปจับมือกับผู้เล่นที่กระโดดเข้ามาเพื่อทำให้ตนเองเป็น source of fund เช่นเดียวกัน

แต่ที่ผมมองว่าน่ากลัวอีกตัวคือ P2P Lending จากที่เมื่อก่อนแหล่งเงินต้องมาจากธนาคารเท่านั้น เมื่อเปิด P2P Lending แหล่งเงินอาจไม่ต้องมาจากธนาคารอีกต่อไป อาจมาจากประชาชนทั่วไปที่รวมตัวกัน ตอนนี้เริ่มมีบางแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางให้คนนำเงินมาฝากไว้ ใครที่ต้องการกู้ก็มากู้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ ที่สำคัญตอนนี้ในเมืองไทยกฎหมายนี้ผ่านแล้ว

บางทีธุรกิจที่คุณทำอยู่มานาน อาจมีข้อมูลลูกค้าเยอะมาก ทำไมไม่ลองเขยิบไปทำอย่างอื่นดูบ้าง ใครที่มีฐานข้อมูลลูกค้าในมือสามารถเขยิบขึ้นไปทำอีกธุรกิจหนึ่งต่อได้ไม่ยาก ยิ่งมี data ที่เป็นดิจิทัลมากเพียงพอก็จะยิ่ง cross ได้ไม่ยาก เช่น ทำบริษัทบัญชีมีฐานข้อมูลทุกบริษัทก็มาปล่อยกู้ได้ หรือ HR ทำด้าน payroll ก็ปล่อยกู้ให้พนักงานได้ เพราะมีข้อมูลของพนักงาน หรือทำแฟรนไชส์ก็ทำได้

การมีฐานข้อมูลของลูกค้าในมืออาจใช้ต่อยอดไอเดียอื่น ๆ เช่น ปล่อยกู้ให้ลูกน้องของตนเอง โดยอาจไปจับมือกับธนาคารหรือแพลตฟอร์ม P2P Lendingทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลูกน้องหรือลูกค้าของเราก็ไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ

นอกจากปล่อยกู้แล้วยังทำเรื่องขายประกัน ซึ่งเป็นบริการที่ไม่ต้องมี inventory เดี๋ยวนี้ไม่ต้องส่งเงินจริง ๆ โอนเป็นตัวเลขได้เลย

ฉะนั้นบริการเหล่านี้มีข้อดีคือ กำไรดี และในยุคดิจิทัลควบคุมง่ายมากขึ้น ต้นทุนในการดำเนินการก็ลดลง ประสิทธิภาพของการให้บริการและโอกาสในการทำกำไรสูงขึ้น ความเสี่ยงก็ลดลงไปด้วย ลองคิดต่อกันดูนะครับ