ขาด Talent-เงินทุน ต้นเหตุสตาร์ตอัพไทยล้าหลัง

นอกจากจะเป็นแอปพลิเคชั่นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนแล้ว LINE ยังมีโครงการ Line ScaleUp สนับสนุนสตาร์ตอัพเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเปิดโอกาสในการหาบริการใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทัพ

“เจเดน คัง” รองประธานกรรมการฝ่ายกลยุทธ์ LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจมูลค่าการลงทุนในสตาร์ตอัพไทยปีนี้ขยับมาอยู่ที่ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 88 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 แต่ก็ยังห่างจากมูลค่าการลงทุนในสตาร์ตอัพของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามได้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มจาก 192 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเป็น 263 ล้านเหรียญ และยิ่งทิ้งห่างอินโดนีเซียซึ่งปีนี้มียอดเงินลงทุนลดลง แต่ก็ยังมากกว่าประเทศไทยมาก โดยมียอดเงินลงทุนลดลงจาก 3,296 ล้านเหรียญในปี 2561 เหลือ 2,437 ล้านเหรียญในปีนี้

และหากเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่า ประเทศไทยมีสตาร์ตอัพในระดับซีรีส์ A (มีมูลค่าการลงทุน 1-15 ล้านเหรียญสหรัฐ) อยู่ 36 ราย ขณะที่อินโดนีเซียมีถึง 101 ราย และเวียดนาม 52 ราย

สาเหตุหลักเนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากร (talent) โดยเฉพาะบุคลากรด้านเทคโนโลยีซึ่งไทยยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน และที่มีก็มักจะเลือกทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ มากกว่า และแรงขับเคลื่อนด้านเงินทุน (funding) ที่ยังมีน้อย

“หากมองภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลในไทย (Thai digital economy) มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เพียง 3% แต่ด้วยมูลค่าที่มากถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทําให้เศรษฐกิจดิจิทัลในไทยมีมูลค่าขนาดใหญ่ เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย แต่สตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังล้าหลัง ทั้งด้านจํานวนและการลงทุน รวมไปถึงด้านการเติบโตเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม”

ดังนั้น โครงการ Line ScaleUp จึงต้องการช่วยส่งเสริมและผลักดันให้สตาร์ตอัพไทยสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีโอกาสก้าวสู่ “ยูนิคอร์น” ที่มีมูลค่าบริษัทพันล้านเหรียญสหรัฐ


ขณะที่เงินลงทุนของ LINE Ventures สำหรับการลงทุนในสตาร์ตอัพไทยในปี 2563 น่าจะใกล้เคียงกับปีนี้คือ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ