“ทรู อินคิวบ์” คัมแบ็ก ย้ำ 4 ภารกิจ แจ้งเกิด “สตาร์ตอัพ”

กลุ่มทรูเป็นหนึ่งในสามค่ายมือถือที่ถือเป็นสารตั้งต้นในการบ่มเพาะ “เทคสตาร์ตอัพ” ในบ้านเราตั้งแต่แรก

“ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูเว้นวรรคเรื่องสตาร์ตอัพไปประมาณ 2 ปี เนื่องจากสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จมีจำนวนน้อย จาก 100 ทีม มีอัตราความสำเร็จแค่ 10 ทีม จึงได้เปลี่ยนมาเน้นการสร้างอีโคซิสเต็ม เพื่อเพิ่มโอกาสให้อีก 90 ทีม มีโอกาสประสบความสำเร็จได้

เริ่มจากการดึงคนที่มีความสามารถจากทั่วโลกมาเพิ่มคุณภาพให้สตาร์ตอัพไทย  ล่าสุดได้ 4 พาร์ตเนอร์ มาช่วยคัดเลือกสตาร์ตอัพ ในโครงการ “ทรู อินคิวบ์” (True Incube) ได้แก่ อิโตชู (ITOCHU) บริษัทการค้าชั้นนำจากญี่ปุ่นที่มีกองทุนลงทุนในสตาร์ตอัพขนาดหมื่นล้านบาท, แอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ในเครือ Alibaba Group, ไฟว์ฮันเดรด สตาร์ทอัพ (500 Startups) 1 ใน 3 บริษัทลงทุนในสตาร์ตอัพระยะเริ่มต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากสหรัฐอเมริกา และเอจีดับเบิลยู กรุ๊ป (AGW Group) บริษัทลงทุนในสตาร์ตอัพจากอิสราเอล

โดย “ทรู อินคิวบ์” จะเน้น 4 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) ให้สตาร์ตอัพหน้าใหม่ 2.มีโปรแกรมพัฒนาธุรกิจ นวัตกรรม และไอเดีย (Inovate) 3.บ่มเพาะเพื่อพัฒนาธุรกิจและบริการ (Incubate) และ 4.ร่วมลงทุน (Invest) ปัจจุบันลงทุนไปแล้วใน 42 ทีม ทีมละประมาณ 1.7 ล้านบาท ซึ่งแนวทางในการลงทุนจะเน้นไปในกลุ่มที่ทำงานร่วมกับทรู และ ซี.พี. ได้ เช่น เฮลท์แคร์, อะกรีเทค, เซอร์วิส, โรโบติก, ทัวร์ริสต์, ฟู้ดเทค หรือดิจิทัล เช่น AI, บิ๊กดาต้า, บล็อกเชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีทรูแล็บ (True Lab) ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัย 10 แห่ง เช่น มหิดล, ธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, มศว, จุฬาลงกรณ์ เป็นต้น และกำลังจะเพิ่มอีก 2 มหาวิทยาลัยในปีหน้า

“เรายังลงทุนในสตาร์ตอัพระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อว่า 100 สตาร์ตอัพ เนื่องจากมองว่าในต่างประเทศ สตาร์ตอัพเริ่มต้นตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ โดยเข้าไปลงทุนตั้งแต่เดือน ส.ค. กับ 30 ทีม รายละ 2 แสนบาท”

โดยสตาร์ตอัพที่เข้าไปลงทุนมี 2 แบบ  1.แบบที่ทรูให้โจทย์ไปแก้ 2.ทำตามความต้องการส่วนตัว ตั้งเป้าสร้างสตาร์ตอัพทั้งหมดให้ได้ 100 ทีม ภายในปีหน้า ส่วน “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” คาดว่าจะเสร็จเฟสแรกภายในไตรมาส 3 ปี 2561 และเสร็จเฟส 2 ปลายปี 2563

“เราต้องการสร้างอีโคซิสเต็มให้ดีเพื่อเป็นฮับดึงดูดคนเก่ง ๆ มาในประเทศ เหมือนซิลิคอนวัลเลย์ที่ดึงคนเก่งจากทั่วโลก สิ่งที่ทรูทำให้เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ถ้าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสเกลต้องใหญ่กว่านี้ ดังนั้นเอกชนทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ต้องช่วยกัน อย่างรัฐบาลกำลังทำเรื่องกฎหมาย ซึ่งช่วยได้เยอะ เช่น วีซ่า แต่ต้องต่อเนื่องเพื่อให้ต่างชาติมั่นใจ”

และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ กลุ่มทรูจึงมีรายการเรียลลิตี้  “ดิ อินโนเวชั่น สตาร์ตอัพ บาย ทรู ดิจิทัล พาร์ค” (The Innovation StartUp by True Digital Park) ช่วยให้ผู้ที่อยากเป็นสตาร์ตอัพเห็นโลกความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร เช่น การคอมเมนต์จากกูรูระดับโลก การได้เงินสนับสนุน เป็นต้น เรียกว่าได้เห็นกระบวนการทั้งหมด และต่อไปอาจมีสตาร์ตอัพต่างประเทศมาแข่งขันด้วยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“สตาร์ตอัพเป็นการสร้างอนาคต ไม่อยากให้มองว่าทรูทำแล้วเสียแต่เงิน เนื่องจากอายุของเทคโนโลยีค่อย ๆ สั้นลง ทำให้แทบธุรกิจต้องมาทำเรื่องสตาร์ตอัพ เช่น แบงก์ และเทลโก้ เพื่อหาเอสเคิร์ฟใหม่ของธุรกิจที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ดังนั้นในแง่รายได้จึงอาจไม่ใช่ระยะสั้น แต่เป็นการการันตีอนาคตของบริษัท”

โดยทรู อินคิวบ์ จะโฟกัสใน 4 ด้าน 1.สร้างการเติบโต 2.ลดต้นทุน 3.ช่วยลดความเสี่ยง และ 4.ช่วยเหลือประเทศ

“สตาร์ตอัพต้องทำระยะยาว ไม่ใช่แฟชั่น และไม่ได้ต่างไปจาก SMEs เพียงแต่ยุคนี้ไม่มีเทคโนโลยีไม่ได้ ไม่มองการสเกลไประดับโลกไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่มีสตาร์ตอัพ ธุรกิจในต่างประเทศก็จะมาดิสรัปต์เรา ถ้าเราไม่สร้างสตาร์ตอัพให้ขยายได้ เราก็แข่งขันไม่ได้”

“ดร.ธีระพล” มองว่า สตาร์ตอัพไทยจะประสบความสำเร็จอยู่ที่ “บิสซิเนสโมเดล” และต้องเริ่มให้เร็วเหมือนในต่างประเทศ แต่สิ่งสำคัญกว่า “ไอเดีย” คือการทำงานหนัก โดยมองว่าจุดแข็งของไทยคือ ความคิดสร้างสรรค์, เรื่องการท่องเที่ยว และการเกษตร แต่สตาร์ตอัพไทยมักเลือกบิสซิเนสโมเดลแบบเดียวกับที่ต่างประเทศทำก่อนจึงเลยสู้ไม่ได้

“ถ้าประเทศไทยไม่ทำเรื่องสตาร์ตอัพต่อก็จะต้องใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ ทำให้แข่งขันลำบาก เพราะธุรกิจตอนนี้ทำครั้งเดียวขายได้ทั่วโลก”

“วิชาล ฮานาล” หนึ่งในพันธมิตรจาก “ไฟว์ฮันเดรด สตาร์ทอัพ” เสริมว่าลงทุนในไทยมา 5 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ และสตาร์ตอัพที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วจึงอยากแนะนำคือทำอะไรต้องลงมือทำให้ดีที่สุด และต้องไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว


“ในประเทศจีน หรือสหรัฐอเมริกา กำลังเป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีล้ำหน้าทั้งหมด ซึ่งโอกาสที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำได้เป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ทำได้คือ ต้องเข้าใจความต้องการของคนในภูมิภาค เข้าใจตลาด และลงมือทำจริง อดทนต่อความล้มเหลว”