งานร้อนปลัด “อัจฉรินทร์” PPP ดาวเทียม รวม “ทีโอที-แคท”

2 ปีแล้วที่ “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ข้ามห้วยจาก BOI มารับตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งนอกจากต้องมารับช่วงผลักดันเน็ตประชารัฐในปีแรกแล้ว รอบปีที่ผ่านมาถือว่าหนักหน่วง “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยถึงความคืบหน้าเรื่องร้อน ๆ ดังนี้

Q : งานที่ถือว่าทำได้สำเร็จ

การผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลทั้งหมด คนอาจจะคุ้นกับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้กับคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ยังมีอีกหลายฉบับที่อยู่ในแพ็กนี้ อย่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเรื่องดิจิทัลไอดี พ.ร.บ.สภาดิจิทัลฯที่จะทำให้ฝ่ายเอกชนแข็งแกร่ง ทั้งหมดจะทำให้การก้าวสู่โลกดิจิทัลทำได้สมบูรณ์ขึ้น

Q : คนก็โจมตีเรื่องกฎหมายเยอะ

ถึงเป็นความภาคภูมิใจ เพราะวันที่กฎหมายเข้าสภาก็ถูกโจมตีหนักมาก ลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพประชาชน แต่ก็ให้เวลากับการชี้แจงให้สังคมเข้าใจมากขึ้น เราได้ออกแบบกฎหมายด้วยการรับฟังและดูกฎหมายของต่างประเทศเพื่อให้มีมาตรฐาน กล้ายืนยันว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ใช้อำนาจเกินเลย

Q : ลุยควบรวม “ทีโอที-แคท”

เป็นงานต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หลังจาก คนร.ให้ตั้งคณะกรรมการเตรียมการควบรวม ก็ลงไปดูแผนธุรกิจต่าง ๆ เพื่อเสนอแผนธุรกิจกลับไปตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ ทำให้ คนร.มีมติเห็นชอบให้ควบรวม และรอเสนอเข้า ครม.ให้มีมติตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

Q : รวมเป็นบริษัทแห่งชาติดีกว่า

แน่นอน ถ้าเรายังเห็นว่ารัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมยังจำเป็นกับประเทศก็ควรมี และควรมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่อย่างนั้นนอกจากต้องแข่งกับเอกชนก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องมาแข่งกันเองอีก ด้วยโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดียวกันทั้งคู่กลายเป็นตัดอนาคตเข้างานอีก และยืนยันว่าไม่ใช่การรวมปัญหามาไว้ด้วยกันแล้วโอกาสเท่าเดิม เพราะเรามี พ.ร.บ.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสทางสังคม ไม่ใช่แค่บรอดแบนด์อย่างเดียว แต่รัฐจะต้องมีบริการเพื่อสาธารณะเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นอีกมาก เรื่องสื่อสารในภาวะภัยพิบัติ ฯลฯ ยังมีภารกิจอีกเยอะมาก แล้วใครจะเป็นคนดำเนินการ ฉะนั้น การควบรวมเป็นทางรอด และรวมจุดแข็งด้านอินฟราสตรักเจอร์

Q : รัฐบาลคาดหวัง Big Data

เป็นอีกเรื่องที่พยายามผลักดันตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่เรื่องอินฟราสตรักเจอร์ที่ต้องให้ภาครัฐหันมาใช้คลาวด์ที่ต้องให้มีมติ ครม. ให้สำนักงบประมาณวางกรอบไม่ให้เงินกระจายไปตามหน่วยงาน แต่ต้องเป็นคลาวด์ในระดับกระทรวงที่มีโครงสร้างสถาปัตยกรรมและมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ไม่ได้บังคับว่าต้องมาใช้คลาวด์กลางภาครัฐอย่างเดียว ตรงนี้งบประมาณปี 2563 จะได้เห็นอย่างชัดเจน

รวมถึงมีทีมอาจารย์จากสถาบันการศึกษา 5 ทีม เป็นที่ปรึกษาให้ 160 กว่าหน่วยงานในการทำคลาวด์และ big data จนถึงด้าน data analytics ที่ได้ตั้งเป็นสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Govern-ment Big Data Institute : GBDi) ตอนนี้มีนักเรียนทุนรัฐบาลกว่า 30 คนเข้าร่วมทีมคอยทำโจทย์ที่รัฐบาลสั่งให้แต่ละหน่วยงานต้องทำ อย่างหน่วยงานท่องเที่ยว กระทรวงสาธารณสุข

Q : งานที่ยังไม่ได้ดั่งใจ

การตั้ง 2 หน่วยงานใหม่ตาม พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ กับคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มาติดขัดอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลพอดี ทำให้ช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ เรื่องดาวเทียมไทยคมที่จะต้องเข้ากระบวนการ PPP (ร่วมทุนรัฐ-เอกชน) ตาม ครม.ตั้งแต่ ม.ค.ที่ผ่านมา แค่จะหางบประมาณมาเพื่อจ้างที่ปรึกษาทำ PPP ก็ใช้เวลาหลายเดือนมาก แล้วขั้นตอนทำ PPP ยังอีกยาวไกล ก็วิตกอยู่ว่าจะไม่สามารถหาผู้ได้สิทธิ PPP ทัน 1 ปีก่อนหมดสัมปทาน คือ ก.ย. 2563 ก็มีแผนสำรองเผื่อไว้ คือ ให้เริ่มการถ่ายโอนความรู้และอบรมการโอเปอเรตดาวเทียมให้กับฝั่งกระทรวงตามสัมปทาน ซึ่งได้คนของแคท (บมจ.กสท โทรคมนาคม) ที่มีพื้นฐานเพื่อให้มั่นใจว่าหมดสัมปทานแล้วจะจอไม่ดำ

Q : ให้แคททำไปเลยไม่ต้อง PPP

เป็นไปได้ไหมก็อยู่ที่นโยบาย ทางรัฐมนตรีดีอีเอสก็พยายามหาทางให้ได้ผู้รับผิดชอบดาวเทียมให้ได้เร็วขึ้นกว่านี้ ซึ่งตอนที่ ครม.มีมติก็เป็นเรื่องเพื่อทราบ ไม่ใช่เรื่องเพื่อพิจารณา โดยมี 4 ทางเลือก คือ ต่อสัมปทาน ยกให้รัฐวิสาหกิจ ขายทิ้ง และ PPP

ซึ่ง ณ เวลานั้นที่ไม่เลือกยกให้แคทรับไปทำเลย ก็เพราะผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ คนไม่แน่ใจในศักยภาพของแคทว่าจะทำได้เพียงลำพัง ส่วนตอนนี้ที่แคทบอกว่าสนใจธุรกิจดาวเทียม จะมีพาร์ตเนอร์เข้ามา ก็เป็นเรื่องของแผนธุรกิจของเขา คงยังไม่สามารถยืนยันอะไรได้

Q : ปี”63 งานที่จะต้องสำเร็จให้ได้

ดิจิทัล พาร์คที่เดิมติดปัญหาเยอะมาก ม.ค.นี้ก็จะเปิดขายซองอีกรอบ ตั้งใจว่าจะได้ผู้เข้ามาลงทุนพัฒนาภายใน มิ.ย. 63 ส่วน PPP ไทยคมก็จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอได้ราว มิ.ย. 63 ทั้ง 2 โครงการต้องให้เสร็จ แต่ความล่าช้าที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องของกระบวนการที่ต้องเข้า ครม. เข้าคณะกรรมการนั่นนี่ ต้องตีความกฎหมาย เป็นเรื่องนอกเหนือความควบคุม ก็ต้องอาศัยเทคนิคหาหนทางให้ทุกอย่างเร็วขึ้นรวมถึงการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปถึง รพ.สต. ถึงโรงเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ


ส่วนการเปิด open access network เน็ตประชารัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมเข้ามาเชื่อมต่อขยายบริการบรอดแบนด์ให้กระจายออกไปได้มากขึ้น ม.ค.นี้ก็น่าจะได้เห็น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสให้คนในสังคมได้มากขึ้น