คุยกับ 2 ซีอีโอ “ทีโอที-แคท” อัพเดตแผนปรับองค์กรฝ่าวิกฤต

ถือเป็นอีกปีของ 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ที่ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับคำสั่งจากรัฐบาลให้แยกทรัพย์สินของทั้งคู่ ออกมาตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตจำกัด (NGDC Co) ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจ ที่ต้องเดินคู่กับภารกิจสนองนโยบายรัฐ “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปพูดคุยกับแม่ทัพของทั้ง 2 องค์กร ดังนี้

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที

Q : งานเร่งทำก่อนสิ้นปี

เน็ตประชารัฐต้องเสร็จ การตั้ง NBN NGDC ต้องเปิดให้ได้ 1 พ.ย. ตามสัญญากับรัฐบาล ดีลกับพันธมิตร ทั้งดีแทค และเอไอเอส จะพยายามลงนามในสัญญาทางการให้ได้สิ้นปีนี้ ซึ่งดีลเอไอเอส อัยการถามกลับมาในรอบ 2 ห่วงว่าสัญญาเดินไปแล้วมีเหตุว่าทำไม่ได้จะจัดการต่ออย่างไร ส่วนดีลดีแทค ส่งร่างสัญญาไปที่อัยการสูงสุด สคร. และ กสทช. น่าจะเสร็จได้ไล่ ๆ กัน

Q : จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่เป็นตามเป้า

ยังเชื่อว่าได้ตามกรอบ เน็ตประชารัฐติดตั้งแล้ว 16,000 หมู่บ้าน ได้ 63-64% ส่วน NBN NGDC เชื่อว่าเดินต่อได้ มีคัดค้านแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ ในส่วนของเน็ตประชารัฐก็คือทำไม่ได้ตามที่คอมมิตเมนต์กับรัฐบาลไว้ ส่วน 2 บริษัทลูก หากตั้งไม่ได้ก็จะกระทบกับความมีประสิทธิภาพขององค์กรที่จะไม่มีประสิทธิภาพไปเรื่อย ๆ ส่วนดีลพันธมิตรจะกระทบกับผลประกอบการ เพราะแต่ละดีลสร้างรายได้ให้ปีละหมื่นกว่าล้านบาท มี 2 ดีล ตก 2 หมื่นกว่าล้านบาท ที่เราจะเสียโอกาสไป

Q : ถ้าได้ตามแผนจะพลิกฟื้นทีโอที

ปีหน้าทีโอทีจะมีกำไร 1,000-2,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุน 5-6 พันล้านบาท

Q : ได้อีก 3 โครงการเน็ตชายขอบของ กสทช.

ถึงมาร์จิ้นจะน้อย แต่ก็ยังมี พร้อมลุย มีทีมเฉพาะ แต่ที่เป็นประเด็นคือเรื่องราคาค่าบริการว่าทำไมเน็ตประชารัฐของกระทรวงกับ กสทช.ไม่เท่ากัน ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงจะตัดสิน

Q : ให้บริการลาสต์ไมล์เน็ตประชารัฐ

ยังไม่ชัวร์ คงได้บางส่วน แต่จะแค่ไหนขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะรัฐบาลยังย้ำเรื่องโอเพ่นแอ็กเซส

Q : ก.ม.ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

กำลังส่งให้แต่ละสายงานไปพิจารณาว่าจะกระทบแต่ละส่วน

Q : เปลี่ยนผ่าน 3 สัมปทานสิ้นสุด

ในส่วนทีทีแอนด์ที ที่ศาลสั่งล้มละลาย รับมอบมาแล้วอย่างราบรื่น สัมปทานเอไอเอสยังมีประเด็นที่นับทรัพย์สินส่งมอบไม่ตรงกัน ก็ต้องหาว่าเกิดอะไรในส่วนไหนบ้าง ส่วนสัมปทานทรูต้องรอหลังวันที่ 28-29 ก.ย.นี้ว่าเขาจะส่งมอบมาอย่างไร

Q : อนาคตของทีโอทีจะอยู่ตรงไหน

กำลังทำแผน 10 ปี วางไว้ว่ารายได้ก้อนใหญ่จะมาจากการทำพันธมิตร 2100 และ 2300 MHz อีกส่วนทำมาหาได้เอง คือบรอดแบนด์ที่ต้องดูโครงสร้างต้นทุนและบริหารจัดการให้ดี

ส่วนโครงข่ายบริการโทรศัพท์ ปี 2568 จะยกเลิก PSBN คือยังมีบริการโทรศัพท์บ้าน แต่จะเปลี่ยนเทคโนโลยี ประหยัดเงินได้ปีละเป็นพันล้านบาท และซัพพอร์ตเรื่องเพิ่มเบอร์บ้านเป็น 10 หลัก

Q : มีบริษัทลูกไม่เหลือคนเก่งที่ทีโอที

คนเก่ง ๆ ดี ๆ อาจยังไม่มาที่ทีโอทีต่างหาก แต่ก่อนทีโอทีเก่งเรื่องไมโครเวฟ เทคนิคต่าง ๆ ใคร ๆ ก็มาเรียนกับทีโอที แต่ยุคนี้ใครยังใช้เทคโนโลยีนี้บ้าง ฉะนั้นทีโอทีต้องหาคนเก่งด้านไอที ปรับโครงสร้างสำหรับงานใน 10 ปี ดังนั้นนักเรียนทุนอาจแค่กลไกหนึ่ง สำคัญคือเรื่องงานและค่าตอบแทนที่ต้องดึงดูด ทั้งคนในองค์กรที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นอีกงานที่ต้องเร่งวางแผนอนาคต

พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม

Q : งานเร่งทำก่อนสิ้นปี

กำลังดู Quickwin สร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา แคทมีโครงข่ายพร้อม ธุรกิจโทรคมนาคมที่ผ่านมาคือแข่งขยายโครงข่าย จนทุกรายมีอินฟราสตรักเจอร์เท่ากันแล้ว และบี้ราคาหนักมาก จึงจะโฟกัสไปที่ธุรกิจใหม่ อย่าง Smart City IoT (Internet of Thing) AI (Artificial Intelligence) สร้างโซลูชั่นสำหรับ Smart energy, Smart agriculture, Smart tourism อื่น ๆ ที่จะซัพพอร์ตให้ภาคธุรกิจ ให้กลายเป็นรายได้สำคัญได้ในอีก 2-3 ปี

แผนธุรกิจจนถึงปี 2568 ต้องหารายได้ใหม่ปีละ 3,000 ล้านบาท ทดแทนรายได้ธุรกิจโมบาย รับความเสี่ยงหากแคทไม่ได้ใช้คลื่นต่อ เตรียมรับมือในกรณีที่แย่ที่สุดไว้ก่อน

Q : ธุรกิจโมบายมีปัญหามาก

my ที่ให้บริการเอง ยังตามเป้า ลูกค้า 1.7 ล้านราย มี 4G ให้ลูกค้าจากดีลที่ทำไว้กับกลุ่มทรูฯ สิ้นปีน่าจะมีลูกค้า 2 ล้านราย แต่ในส่วน MVNO ด้วยราคาขายส่งที่ตั้งไว้ทำตลาดได้ยาก ถ้าจะลดราคาลงก็ต้องเจรจากับเรียลมูฟที่เป็นรายใหญ่ เพราะเพดานที่กำหนดกันไว้ ทำให้ต้นทุน MVNO ยังสูงและขาย 4G ให้ไม่ได้

รายได้โรมมิ่งโมบายหายไปปีละ 2,400 ล้านบาท เพราะแต่ละค่ายสร้างโครงข่ายเองแล้ว บวกกับกรณีภาษีสรรพสามิตจากสัมปทานที่ศาลให้จ่ายอีก 2,400 ล้านบาท ปีนี้เลยเป็นปีแรกที่จะขาดทุนหลักพันล้านบาท

รายได้ใหม่จากการร่วมทุนกับดีแทค ปีแรก 2 หมื่นล้าน ปีต่อไปปีละ 7 พันล้านบาท ก็ยังเดินต่อไม่ได้รายได้ครึ่งปีเดิมมีกำไร 80 ล้านเลยดิ่งติดลบไปแล้ว 2 พันล้าน ถ้าดีลดีแทคอนุมัติมาช่วยก็คงพลิก แต่คงยาก ไม่ได้หวังแล้ว

Q : อนาคตดูมืดมน

ธุรกิจใหม่ที่โฟกัส ปัจจุบันใช้วิธีจับมือกับพาร์ตเนอร์ร่วมกันทำตลาดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่แคทพยายามก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ซื้ออย่างเดียว อย่าง IoT เชื่อว่าโตแน่ใน 5 ปี ดิจิทัลพาร์กก็หวังจะเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ซัพพอร์ตทิศทางประเทศ ต่อยอดอนาคต

Q : แยกบริษัทลูกช่วยได้

เมื่อแยกบริษัทลูก บริษัทแม่จะเหลือ Service Co ธุรกิจโมบายและธุรกิจใหม่ที่กำลังบุกเบิก กำลังคุยขอบเขตงาน ทรัพย์สินและจัดคน กรอบ NGDC จะมีพนักงาน 479 คน ส่วน NBN มีราว 2,000 คน

Q : งานเร่งตามนโยบายรัฐ

ก็มีซับมารีนเคเบิล ที่ ครม.อนุมัติงบฯ 5,000 ล้านบาท ขยายประสิทธิภาพโครงข่ายในประเทศ กระทรวงดิจิทัลฯคงจะโอนเงินให้สัปดาห์นี้ คณะกรรมการกำหนดสเป็กกำลังยกร่าง TOR เข้าบอร์ดใหญ่ได้สิ้นเดือน อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างแบ่งเป็นขยายการเชื่อมต่อกับภาคพื้นดินไปยังลาว กัมพูชา เมียนมา ขยายศักยภาพของเคเบิลเส้นเดิมที่มีอยู่แล้ว สร้างแบ็กฮอลในประเทศเชื่อมเส้นศรีราชาไปสงขลา สร้างเคเบิลใต้น้ำเส้นทางใหม่ไทย-ฮ่องกง อีก 3 ปีถึงจะเสร็จ

Q : จะทำธุรกิจดาวเทียม

เป็นการมองอนาคต เพราะดาวเทียมไทยคมเมื่อหมดสัมปทานแล้วใช้งานได้อย่างน้อย 5 ปี ให้รัฐบาลมีตัวเลือก ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเอกชนอย่างเดียวแต่หลัก ๆ ของแคทคือ จะปรับวิสัยทัศน์จากการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไปสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลโซลูชั่นที่จะเพิ่ม productivity ให้กับธุรกิจ

Q : ก.ม.ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจจะกระทบ


กำลังให้ทีมกฎหมายศึกษารายละเอียด