เตรียมพร้อม 5G เต็มที่ “กสทช” เร่งคลอดเกณฑ์ IOT

16 ก.พ. 256 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งเป้าจะจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G พร้อมย้ำชัดว่า จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ “IOT” ที่มีประสิทธิภาพเหนือระดับ

และเพื่อรองรับการมาถึงของ 5G “กสทช.” ยังได้เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลอุปกรณ์ IOT โดย “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ภายในไตรมาสแรกปี 2563 กสทช.จะมีการออกประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลและปรับปรุงเลขหมายอุปกรณ์ IOT เพื่อให้สอดรับกับการใช้งานเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่าง “อุปกรณ์-อุปกรณ์” เป็นหลัก ทำให้จะมีอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ IOT จำนวนมากเกิดขึ้น เบื้องต้น กสทช.กำหนดเลขหมายสำหรับอุปกรณ์ IOT ไว้ 14 หลัก จำนวน 8,000 ล้านเลขหมาย

“กสทช.คงไม่ได้กำกับไปในตัวเซ็นเซอร์ทุกตัว แต่เราจะดูที่เกตเวย์เป็นหลัก อุปกรณ์ที่จะควบคุมหรือให้เลขหมายก็ต้องเป็นอุปกรณ์ที่คาดว่าจะเกิดปัญหาได้ เช่น หุ่นยนต์ตัดหญ้า หากมีการผิดพลาดขณะตัดหญ้าแล้วสร้างความเสียหายให้กับสิ่งของรอบข้าง การมีหมายเลขกำกับก็จะทำให้รู้ได้ว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นของใคร”

ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการหรือวางระบบสื่อสารที่มีอุปกรณ์ IOT ให้บริการแก่ลูกค้าเชิงพาณิชย์ จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ จากสำนักงาน กสทช.ก่อน ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 3 ราย

“เน็ตเวิร์กเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้อุปกรณ์สื่อสารกับอุปกรณ์ การกำกับดูแลเกตเวย์ที่เป็นหัวใจหลักของการสื่อสาร จึงเป็นสิ่งที่ กสทช.ต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้ กสทช.ต้องมีการออกเลขหมายเพื่อกำกับอุปกรณ์ IOT แต่ยังไม่ได้กำหนดลงรายละเอียดชี้ชัดว่าจะเป็นอุปกรณ์ประเภทไหน อย่างไร เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยี หากกฎเกณฑ์ของ กสทช.เข้มงวดเกินไป”

นอกจากนี้ กสทช.ยังได้ปรับประกาศเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) สามารถนำข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน เช่น พฤติกรรมการใช้งานในภาพรวม เป็นต้น มาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการค้าได้อย่างไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน

ขณะเดียวกันยังทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อวางแนวทางตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เนื่องจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ