เล็งประมูลอัพสปีดเน็ตประชารัฐ ผุดสมาร์ทซิตี้ปักธงดันไทยสู่ฮับอาเซียน

รัฐมนตรีดีอีเอสฟิตจัด กางโรดแมปปี 2563 ปักธง “เน็ตประชารัฐ” ต้องเร็วแรงกว่าเดิม ลั่นถ้าทีโอทีทำไม่ได้ เตรียมเปิดประมูลหาเอกชนมาจัดการแทน พร้อมผุดไอเดีย “สมาร์ทซิตี้” เมืองใหม่แสนไร่ สร้างเครือข่าย “บิ๊กดาต้า” เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชน ดัน “ทีโอที-แคท” เข้าประมูล 5G

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งเป้าจะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “ดิจิทัลฮับอาเซียน” ในปี 2564 ฉะนั้นภารกิจสำคัญที่จะเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2563 มี 2 เรื่องหลัก คือ โครงการสร้าง “สมาร์ทซิตี้” ในพื้นที่เมืองใหม่ โดยภายในปี 2563 จะเห็นโปรเจ็กต์นำร่องชัดเจนว่าจะมีรูปแบบอย่างไร และใช้พื้นที่ใด และโครงการ “บิ๊กดาต้า” ข้อมูลสาธารณสุขและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก เข้าถึงประวัติการรักษาพยาบาลของตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น จากการมีข้อมูลที่ครบถ้วน โดยได้เริ่มหารือร่วมกันระหว่าง รพ.รัฐขนาดใหญ่ กับสมาคม รพ.เอกชนแล้ว ถือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ให้ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตัวเองอย่างเต็มที่

“สมาร์ทซิตี้ที่จะทำจะเป็นเมืองใหม่จริง ๆ ไม่ใช่แค่เอาเมืองเก่ามาเติม ๆ นั่นนี่เข้าไป จะเห็นเมืองใหม่ชัดเจนแสนไร่ แล้วมีมาสเตอร์แปลนที่เป็นสมาร์ทซิตี้ได้จริง ๆ มีเขตที่พักอาศัย สวนสาธารณะ เขตธุรกิจอยู่อย่างไร ต้องเห็นภายในปี 2563”

ประมูลอัพเกรด “เน็ตประชารัฐ”

อีกเรื่องที่ต้องทำในปี 2563 คือ การปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ “เน็ตประชารัฐ” ที่ปัจจุบันครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน ให้มีระบบบริหารจัดการที่ชัดเจนขึ้น ให้ประชาชนได้ใช้งานด้วยความเร็วที่มากกว่าปัจุบัน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมู่บ้านได้จริง โดยหาก บมจ.ทีโอทีไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ก็มีแนวคิดจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน รวมถึง

ผลักดันให้เอกชนเข้ามาเชื่อมต่อโครงข่ายในรูปแบบของ open access ได้จริง เพื่อที่จะกระจายการให้บริการไปได้กว้างขึ้น ไม่ใช่หยุดแค่โครงข่ายของเน็ตประชารัฐ

“ผมจะไม่ยอมให้เน็ตประชารัฐเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ ที่ความเร็วแค่ 30/10 Mbps แล้วชาวบ้านต้องไปนั่งล้อมเสาสัญญาณใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ทีโอทีเคยมองเน็ตประชารัฐเป็นของตาย ได้รับค่าบำรุงรักษาไปปีละเป็นพันล้านบาท ก็ทำไปเรื่อย ๆ ผมก็มีแนวคิดว่า ถ้าทีโอทีทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้ ผมอาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลบริหารโครงข่ายให้ได้มีคุณภาพได้ดีกว่านี้ ซึ่งมั่นใจว่าโครงข่ายจะต้องดีขึ้น โดยรัฐใช้เงินน้อยลง ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น”

ส่วนแนวคิดที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) อยากให้รัฐพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการบรอดแบนด์แก่ประชาชนนั้นมองว่า รัฐได้ลงทุนเน็ตประชารัฐไปกว่าหมื่นล้านบาท น่าเสียดายหากจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ก่อน

“การให้คลื่นฟรีกับรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ได้มองดูที่ประสิทธิภาพในการบริหารมันหมดเวลาไปแล้ว เน็ตประชารัฐเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก”

ควบรวม “ทีโอที-แคท” สู่ 5G

ขณะที่การควบรวม บมจ.ทีโอที และแคท พยายามเสนอเข้า ครม.ให้ทัน 18 ธ.ค.นี้ ขณะนี้เหลือแค่ขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารอีกเล็กน้อยเท่านั้น โดยหากควบรวมเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติได้แล้ว เตรียมจะผลักดันให้เข้าประมูล 5G

สำหรับสาเหตุที่ต้องควบรวมทั้ง 2 บริษัทก็เพื่อประโยชน์ของทั้งคู่และประโยชน์แก่ประเทศ เนื่องจากปี 2568 คลื่นความถี่ที่ทั้ง 2 หน่วยงานถือครองอยู่จะสิ้นสุดการใช้งานทั้งหมด ฉะนั้น รายได้ส่วนหนึ่งจะหายไป และการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการสื่อสารของโลก ทำให้โทรศัพท์ประจำที่มีบทบาทลดลง แต่เปลี่ยนไปสู่บรอดแบนด์ 5G การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ AI IOT ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ยุทธศาสตร์ของทีโอที กับแคทได้ ก็จะขาดทุนแน่นอน

“5G ไม่ใช่เรื่องของมือถือ แต่มีอีกมุมที่เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อการแพทย์ ซึ่งไม่ได้มุ่งในเรื่องของผลกำไร ถ้าไม่มีหน่วยงานรัฐที่มี 5G ให้ใช้ประโยชน์ได้เลย เวลาใช้ก็ต้องไปจ่ายเงินให้โอเปอเรเตอร์เอกชน ซึ่งต้องมองถึงความคุ้มค่าในการเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของความมั่นคงส่วนหนึ่งด้วย ยิ่งเมื่อ 5G เข้ามา”

“แคท” แผนสำรอง PPP

ส่วนเรื่องบริหารดาวเทียม หลังสิ้นสุดสัมปทานกับ บมจ.ไทยคม ในเดือน ก.ย. 2564 ยังมุ่งที่แนวทางร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) เป็นหลักตามมติ ครม. แต่ก็ได้มองถึงแผนสำรองไว้ 2 ทางเลือก หากไม่สามารถทำ PPP ได้ทัน คือ 1.ให้ไทยคมบริหารต่อ 2.หาหน่วยงานอื่นที่มีความพร้อมมาบริหาร ซึ่งอาจจะเป็นแคท หรือผู้ที่เชี่ยวชาญพอ

“ณ เวลานี้ยังไม่ได้ฟันธงว่า จะให้แคทเป็นคนเข้ามารับช่วงบริหารดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัมปทานกับ บมจ.ไทยคม เพราะการ PPP ยังเป็นสิ่งแรกที่ต้องมุ่งไปตามมติ ครม. แต่กระทรวงก็ต้องมีทางสำรองไว้ด้วย ซึ่งก็มีกฎหมายเปิดช่องไว้ด้วยว่า หากทำไม่ทันก็สามารถไปในทางสำรองได้ เพื่อให้ผู้ใช้งานอยู่มั่นใจได้ว่า จะไม่มีปัญหาจอดำ เกิดสุญญากาศใช้งานไม่ได้ แล้วก็ต้องดูในทางธุรกิจด้วยว่า แคทพร้อมไหม ถ้าไม่พร้อมมีพาร์ตเนอร์มาร่วมทุน ที่จะควบรวม หรือสวอปหุ้นกันเพื่อให้แคทสามารถบริหารดาวเทียมได้ แล้วดาวเทียมที่เหลือเป็นดาวเทียมที่สำคัญ ที่ผมตั้งใจจะเคลียร์สลอตที่ยังว่างอยู่ให้เอามาใช้เพื่อเช่า ทำรายได้เข้ารัฐ และนำไปใช้บริการ 5G”