Q&A จัดครบทุกคำถาม “วิธีประมูล” 5G คุยกับผู้ออกแบบ “ดร.พัชรสุทธิ์”

ผศ.ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์

จัดให้ตามคำเรียกร้อง สำหรับการสาธิตวิธีการประมูลคลื่นความถี่ 5G  ซึ่ง “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งเป้าจะเปิดเคาะราคาในวันที่ 16 ก.พ. 2563

เหตุที่ต้องจัดประมูลรอบสาธิต เนื่องจากการประมูลในครั้งนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปใช้ การประมูลประมูลแบบ Clock Auction สำหรับการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (Multiband Auction) แตกต่างจากการประมูลในครั้งก่อนๆ

ทำไมถึงต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วดีอย่างไร  แล้ววิธีเคาะราคาจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” จัด Q & A กับผู้ออกแบบการประมูล  “ผศ.ดร. พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 2.6 GHz 26 GHz และ 28 GHz

Q : ประมูลแบบ Clock Auction ดีกว่าเก่า?

A :  วิธีการประมูลแบบ Clock Auction  ดีกว่าการประมูลรูปแบบเดิมที่ กสทช. ได้ใช้ในครั้งก่อน ในแง่ของ “เวลา” และเพื่อรองรับการประมูลหลายย่านความถี่พร้อมกัน

“รูปแบบการประมูลแบบเดิม ในกรณีที่แต่ละรอบการเสนอราคากำหนดไว้ว่า 15 นาทีหรือ 20 นาที ก็จะต้องรอให้ครบกำหนดก่อนแม้ว่า ผู้เข้าประมูลจะเสนอราคาครบแล้วทุกราย รวมถึงจะต้องมีการเสนอราคาเข้ามาถึง 3 ครั้งราคาประมูลถึงจะขยับขึ้น ทำให้เกิดการ “ขังผู้เข้าประมูล” ไว้ที่ห้องประมูลข้ามวันข้ามคืน”

แต่ถ้าเป็นการประมูลแบบ Clock Auction เมื่อผู้เข้าประมูลเสนอราคาครบหมดทุกรายแล้ว รอบการประมูลก็จะขยับขึ้นสู่รอบใหม่ทันที  ทำให้ใช้เวลาในการประมูลรวดเร็วขึ้น และยังเหมาะกับการประมูลหลายย่านคลื่นพร้อมกัน

Q : เสนอราคาประมูลพร้อมกันไปทุกย่านคลื่น

A :  ผู้เข้าประมูลทุกรายจะเสนอความต้องการชุดคลื่นความถี่ “สูงสุด” ในทุกย่านคลื่นที่ต้องการ ตั้งแต่การประมูลรอบแรก  และมีสิทธิ์เสนอราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรักษา “ชุดคลื่นที่ต้องการไว้”

Q : ยังมีสิทธิไม่เสนอราคา (Waiver) 3 ครั้งเหมือนแบบก่อน

A : ไม่มี ต่อให้ผู้เข้าประมูลไม่เสนอราคาเพิ่มในรอบใดก็ตาม ระบบจะปรับราคาเพิ่มขึ้นในชุดคลื่นความถี่ที่แสดงความต้องการไว้โดยอัตโนมัติ

Q : แบบนี้เคาะเสนอราคาเพิ่มเป็น 0 บาทได้ไหม

A : ไม่ได้ ระบบจะปรับราคาเพิ่มตามที่เงื่อนไขการประมูลระบุไว้ คือ  700 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เพิ่มรอบละ 440 ล้านบาท  คลื่น 1800 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ราคาเพิ่มรอบละ 25 ล้านบาท  คลื่น 2600 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ราคาเพิ่มรอบละ 93 ล้านบาท และ 26 GHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท ราคาเพิ่มรอบละ 22 ล้านบาท

Q : ถ้าราคาเพิ่มจนสู้ไม่ไหวแล้วจะทำไง

A : ต้องลด “ความต้องการชุดคลื่นความถี่ลง” อย่างเดิมเสนอจะประมูล 3 ชุดคลื่น ต้องลดลงเหนื่อย 2 ชุด ถ้ายังสู้ไม่ไหวอีกก็จะต้องลดลงไปเรื่อยๆ การประมูลรูปแบบนี้ “ลด” ความต้องการคลื่นได้ แต่จะเปลี่ยนใจ “เพิ่ม” ให้มากกว่าที่เสนอราคาในรอบแรก “ไม่ได้”

Q : ราคาก็จะเพิ่มไปเรื่อยๆ แล้วจะจบการประมูลเมื่อ?

A : จบการประมูลเมื่อ “ความต้องการชุดคลื่น” ที่ผู้เข้าประมูลเสนอ มีจำนวนน้อยกว่า หรือ เท่ากับ ชุดคลื่นความถี่ที่ กสทช. นำออกประมูล ตราบใดที่ยังมากกว่า การประมูลก็จะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ

Q : แบบนี้ถ้าโอเปอเรเตอร์ซื้อแค่คนละล็อตเดียวก็มีโอกาสที่จะเคาะราคาแค่รอบเดียวจบ

A : ใช่ ถ้าจำนวนผู้เข้าประมูลน้อยกว่าล็อตคลื่นที่นำออกประมูล

Q : เลือกล็อตคลื่นที่ต้องการได้เลย

A : ล็อตคลื่นจะเลือกหลังการประมูลจบ  แต่ไม่ได้ปล่อยให้ผู้ชนะการประมูลเลือกได้อิสระแบบการประมูลครั้งก่อนๆ  ระบบจะจัดล็อตคลื่นมาให้เลือกเป็น เซ็ต A , B , C เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกคลื่นในล็อตที่ทำให้เกิดช่วงคลื่นฟันหลอ  โดยจะเปิดให้ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายยื่นซองเสนอราคาเลือกล็อตที่ต้องการ หากในล็อตใดมีผู้ต้องการมากกว่า 1 ราย ก็จะให้กับผู้ที่เสนอราคาสูงสุด  แต่หากผู้ชนะการประมูลไม่ซีเรียสว่าจะต้องได้คลื่นล็อตไหน จะไม่เสนอราคาเพิ่มก็ได้

Q : ไม่ได้บังคับต้องประมูลทุกย่านคลื่น

A : จะประมูลแค่ย่านเดียวก็ได้ กฎไม่ได้บังคับ