2563 เปิดเสรีดาวเทียม ลู่วิ่งใหม่ “ไทยคม-Landing Right”

หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติ” และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ “กสทช.” ดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

รวมทั้งสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งเป็นการประกอบกิจการดาวเทียมภาคอวกาศ (space seg-ment) ตลอดจนการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการดาวเทียมภาคพื้นดิน (ground segment) โดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (landing right) จึงเป็นการรวมความรับผิดชอบทั้งเรื่องคลื่นความถี่ และสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “กสทช.”

ต้นไตรมาส 3 พร้อมเปิดเสรี

“พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ” รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ภายในไตรมาสแรกปี 2563 กิจการดาวเทียมของไทยจะก้าวสู่การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง เมื่อแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ จะมีผลบังคับใช้

“ทั้ง 3 ร่างได้ผ่านเวทีประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะนำข้อสรุปจากผลการประชาพิจารณ์ พร้อมทั้งการปรับร่างดังกล่าวเข้าที่ประชุม กสทช. ภายในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 หากไม่มีการปรับแก้ก็สามารถนำไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อประกาศใช้แล้ว หากมีบริษัทใดต้องการจะยิงดาวเทียมดวงใหม่ในนามประเทศไทย ก็สามารถมายื่นขอใช้วงโคจรดาวเทียมกับ กสทช.ได้เลย”

สำหรับ (ร่าง) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จะเป็นแนวทางในการประกอบกิจการดาวเทียมในไทย หลังจากประชาพิจารณ์ได้ปรับข้อความเล็กน้อย โดยได้ตัดเนื้อหาที่ระบุว่า กสทช.จะดำเนินการสอดคล้องตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนด เนื่องจากเวทีประชาพิจารณ์เห็นว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุ

ยกเว้นค่าธรรมเนียม “ภาครัฐ”

ขณะที่ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม เดิมได้ระบุให้ต้องวางเงินหลักประกันก่อนสร้างดาวเทียมของภาครัฐ 2.5% ส่วนเงินหลักประกันของเอกชนกำหนดไว้ที่ 5% ได้เปลี่ยนเป็น “ยกเว้น” ให้หน่วยงานรัฐ ในกรณีที่เป็นการสร้างดาวเทียมเพื่อการวิจัยและการศึกษา รวมถึงการใช้งานที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไรรวมถึงเรื่องเงื่อนไขการยึดเงินประกัน ที่กสทช.กำหนดให้ยึดเงินประกัน หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ภายใน 7 ปี กสทช.จะผ่อนปรนในกรณีที่ประสบปัญหาที่เป็นเหตุสุดวิสัย รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขเรื่องสิทธิขั้นสมบูรณ์ของดาวเทียมให้ยึดตามประกาศของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จากเดิมที่ยึดตามที่ กสทช.กำหนด และเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง กสทช.จึงได้มีการกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบวัตถุในอวกาศด้วย

“ค่าธรรมเนียมการอนุญาตขอใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม หากเป็นดาวเทียมไทย เก็บค่าไฟลิ่ง 2 ล้านบาทต่อ 1 สิทธิ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีอยู่ที่ 0.25% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการดาวเทียม ส่วนดาวเทียมต่างชาติเก็บค่าไฟลิ่งเท่ากับดาวเทียมไทย แต่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีแพงกว่า อยู่ที่ 3.2% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการดาวเทียม”

กังวลด้านความมั่นคง

ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (landing right) ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้มีการใช้ดาวเทียมต่างชาติมาให้บริการในประเทศไทยได้นั้น กสทช.ได้ปรับแก้เนื้อหาเพื่อลดกังวลด้านความมั่นคง โดยได้กำหนดให้ดาวเทียมต่างชาติ ต้อง “ตั้งบริษัท” ในประเทศไทย และมีโครงข่ายเกตเวย์ หรืออัพลิงก์สเตชั่น ในประเทศไทย

“ในเวทีประชาพิจารณ์เห็นชัดว่า บริษัทที่สนใจในการใช้ช่องดาวเทียมต่างชาติ มีมากกว่าจะสร้างดาวเทียมเอง ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงกังวลในประเด็นด้านความมั่นคง แม้ว่าจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมดาวเทียมต่างชาติมากกว่า จึงกำหนดให้ละเอียดไว้เพื่อว่าจะไม่ได้มีแค่เอเยนซี่มารับช่วงเท่านั้น แต่ต้องมีบริษัททางการ รวมถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศ รัฐบาลไทยจะสามารถปิดระบบได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับสถานทูตที่กำหนดให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติที่ไม่มีบริษัทในประเทศไทยได้”

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเงื่อนไขกิจการเรือที่แต่เดิมใช้ดาวเทียมต่างชาติได้เสรี เปลี่ยนเป็นกำหนดให้บริษัทดาวเทียมต่างชาติต้องมีสำนักงานในประเทศไทยด้วย รวมถึงการใช้งานในกิจการเพื่อให้บริการโทรคมนาคมทั่วถึง (USO) ได้กำหนดให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติที่ไม่มีบริษัทในประเทศไทยได้ หากให้บริการ USO ไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าเกิน 1 ปี ต้องเข้าสู่การกำกับดูแลตามระบบของ กสทช. เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้ต่างชาติเข้ามาด้วยการอ้างการให้บริการ USO

“ดาวเทียมไทยจะมีโอกาสให้บริการได้อย่างถูกต้องและเสรีเป็นธรรม โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบบสัมปทาน บริษัทใดอยากจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมก็ทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รายเก่าก็สามารถยิงดาวเทียมใหม่ได้เช่นกัน หากทำตามกระบวนการแล้ว ไม่มีอะไรมาห้ามได้ เป็นการปลดล็อกให้ทั้งผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่ ได้เดินบนลู่วิ่งใหม่ แต่ กสทช.ต้องยึดหลักสำคัญ คือ ต้องเปิดเสรี ให้มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดการผูกขาด แต่ผู้ประกอบการไทยก็ต้องอยู่รอดด้วย”