Cross Border โอกาสที่มาถึง ของผู้ประกอบการไทย

Photographer: Daniel Acker/Bloomberg via Getty Images

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับตัวแทนในประเทศไทยของ amazon.com ซึ่งตอนนี้ได้เข้ามาบุกตลาดไทยมากขึ้น แต่เป็นการบุกเข้ามาในเชิงที่จะนำผู้ประกอบการไทยออกไปขายในตลาดโลก

ตอนนี้ amazon มีมาร์เก็ตเพลซทั้งหมด 18 แห่งทั่วโลก ทั้งในฝั่งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ ฯลฯ และมีความแข็งแรงมากเลยทีเดียว การเข้ามาในไทยของ amazon ครั้งนี้จะโฟกัสไปที่ 2 ตลาด ก็คือ ตลาดอเมริกา และสิงคโปร์ นอกจากนั้น เขายังมองว่าสินค้าไทยสามารถนำออกไปขายได้ในอีกหลาย ๆ ตลาดในโลกนี้

ประเทศไทยมีสินค้าดี ๆ เยอะมากแต่ยังไม่ได้ทำเป็นระบบที่จะ cross border ด้วยอีคอมเมิร์ซได้ เราอาจรู้สึกเฉย ๆ กับสินค้าของเราเอง แต่หากมีโอกาสไปเดินสำรวจตลาดเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า จะพบว่ามีสินค้าไทยวางเต็มไปหมด

ตอนนี้ระบบขนส่งทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น การหาตัวแทนก็ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีคนประเภทที่เป็นคนกลางนำสินค้าไทยไปขายต่างประเทศ หรือในประเทศที่กล่าวมาข้างต้น หรือบางคนนำไปขายใน ebay หรือ amazon

แต่คำถามที่น่าสนใจ ก็คือ ระหว่างการที่เป็นคนมาซื้อแล้วนำไปขายต่อ ไม่ใช่เจ้าของแบรนด์เอง กับเจ้าของแบรนด์นำไปขายเอง อย่างไหนดีกว่ากัน แน่นอนว่าอย่างหลังย่อมมีความได้เปรียบมากกว่า

เดี๋ยวนี้การที่จะนำสินค้าไปขายใน amazon คุณไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเองก็ได้ เพียงแค่มองเห็นโอกาสหรือรู้ว่าสินค้าใดที่ขายดีมาก ๆ ก็นำสินค้าเหล่านั้นมาทำเป็นแบรนด์ของตัวเองแล้วส่งขายออนไลน์ในตลาดต่างประเทศได้เลย

ข้อดีของการทำเป็นแบรนด์ แน่นอนข้อแรกก็คือ เป็นแบรนด์ของตัวเอง ในแง่ของกำไรก็ย่อมจะดีมากกว่า เช่น หากขายปากกาลบคำผิดขายในไทยอาจจะขายได้แค่ 1 ดอลลาร์ แต่เมื่อไปขายที่อเมริการาคาอาจจะขึ้นไปถึง 4 ดอลลาร์ก็ได้

นั่นคือคุณต้องเข้าไปรีเสิร์ชใน ebay หรือ amazon ให้รู้แน่ว่าสินค้าตัวไหนที่มีโอกาส ตัวไหนที่มีการแข่งขันสูง เมื่อเห็นโอกาสเกิดขึ้นหรือค้นพบสินค้าที่สามารถนำไปใส่ในแพลตฟอร์มอย่าง ebay หรือ amazon ได้ คุณก็สามารถนำเข้าไปขายได้เลยทันที

พูดถึงการทำรีเสิร์ช เมื่อก่อนการทำรีเสิร์ชแบบเดิม ๆ ข้อมูลหรือ data ก็มีวิธีการเข้าไปหาแบบหนึ่งซึ่งต้องใช้เวลาและขั้นตอนยุ่งยาก แต่ในยุคนี้เราสามารถเข้าไปหาได้ง่ายมากขึ้น ไม่ถึง 10 นาทีก็ได้ข้อมูลมาแล้ว แถมยังมีความแม่นยำที่มากขึ้นด้วย

การหาข้อมูลยุคนี้อาจใช้แพลตฟอร์มที่เป็นพวก social listening เช่น จาก Wisesight หรือ Zanroo ฯลฯ หรือแม้แต่ Google Trend ก็เป็นตัวหนึ่งที่เราสามารถนำข้อมูลออกมาวิเคราะห์ได้ว่า

ตอนนี้คนไทยหรือคนทั่วโลกกำลังค้นหาอะไรกันบ้าง การถูกค้นหามาก ๆ นั้นสามารถสะท้อนว่าสินค้าหรือสิ่งที่คนค้นหานั้นเป็นที่ต้องการสูง

หรือแม้แต่ข้อมูลการค้นหาว่า ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร บางครั้งไปถึงเรื่องของราคา ก็เก็บข้อมูลเหล่านี้มาได้ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ แม้แต่ข้อมูลลับขององค์กรของประเทศต่าง ๆ ข้อมูลเถื่อน ข้อมูลการผลิต ฯลฯ ก็ทำได้ ยุคนี้อยากได้ข้อมูลอะไรก็ตามกดสองทีก็เจอแล้ว ง่ายมากจริง ๆ

ฉะนั้น ต้นทุนด้านเวลาในเรื่องการหาข้อมูลลดลงจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมธุรกิจต่าง ๆ ถึงวิ่งเร็วเพราะข้อมูลเร็ว มีมากมหาศาล คนดึงหรือรวบรวมมาได้ การตัดสินใจในการทำธุรกิจจึงแม่นยำมากขึ้น


ดังนั้น โอกาสอยู่ตรงหน้าแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะวิ่งเข้าไปหาโอกาสหรือปล่อยให้มันผ่านไป โลกหมุนเร็วขึ้น ธุรกิจก็วิ่งเร็วขึ้น คุณจึงต้องเริ่มออกวิ่งตั้งแต่ตอนนี้ อย่ามัวแต่คิด ทำเลยครับ