นับหนึ่ง 5G “ลุงสั่งเฮีย อุ้มเสี่ย” ที่สุดปะทะเดือดปี 2562

ปี2562 เป็นอีกปีที่วงการโทรคมนาคมไอที “ดุเดือดคึกคัก” แต่ที่โดดเด่นน่าจดจำที่สุดคือ “การคืนช่องทีวีดิจิทัล” ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เปิดช่องไว้ และทำให้ช่องทีวีดิจิทัลประเภทบริการธุรกิจที่มีอยู่ 22 ช่อง ยื่นขอ “จอดำ” ไปทั้งหมด 7 ช่อง ปิดกิจการได้โดยได้รับเงิน “เยียวยา” ติดกระเป๋าไปอีกต่างหาก ตั้งแต่ 162 ล้านบาท ถึง 680 ล้านบาท รวม ๆ7 ช่องแล้วกว่า 2,759 ล้านบาท

แถม 3 ค่ายมือถืออย่าง เอไอเอส ทรู ดีแทค ยังได้ยืดจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายที่เป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว ให้ทยอยจ่ายเป็น 10 งวด (10 ปี) ได้ แบ่งเบาภาระให้ “เอไอเอส” ที่มีมูลค่ากว่า 59,574 ล้านบาท ทรู 60,218 ล้านบาท และดีแทค 30,084 ล้านบาท

เรียกว่าสำนักงาน “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยเฉพาะเลขาธิการ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” จัดให้ทุกฝ่ายตามคำขอ จนทำให้ประธาน TDRI “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า “ลุงสั่งเฮีย อุ้มเสี่ยด้วยเงินเรา”

แถมยังมีคำสั่ง คสช.ที่ 8/2562 ต่ออายุกรรมการ กสทช. ให้ทำหน้าที่ต่อไปได้ “แบบมีอำนาจเต็ม” แม้ว่าจะอายุเกิน 70 ปีแล้ว จนกว่ากฎหมายใหม่ที่ปรับปรุงเรื่องคุณสมบัติกรรมการประกาศใช้

ปีนับหนึ่ง 5G

5G กลายเป็นวาระที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างช่วงชิงความเป็นหนึ่งในปี 2562 ไม่ว่าจะฝั่ง “กสทช.” และ “ดีอีเอส” กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต่างเปิดพื้นที่จับโอเปอเรเตอร์ ทั้งเอไอเอส ดีแทค ทรู บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) มาติดตั้งอุปกรณ์ทดลองทดสอบ 5G

โดย “กสทช.” ยึดหัวหาดย่านสยามสแควร์ สามย่าน ส่วน “ดีอีเอส” ครองพื้นที่ ม.เกษตรฯ ศรีราชา ด้านรัฐบาลก็ปักธงปี 2563 ประเทศไทยต้องมี 5G ใช้เป็นชาติแรกในอาเซียน แม้ค่ายมือถือต่างประสานเสียงว่า “เร็วเกินไป” และค่าคลื่นยังแพงมาก

แต่ทั้ง “เอไอเอส” และ “ทรู” ต่างแข่งขันกันชิงซีนความเป็นเบอร์หนึ่งใน 5G ด้วยการเดินสายเปิดพื้นที่โชว์เคสทั่วประเทศต้องจับตาว่า 4 ก.พ. 2563 จะมีใครยื่นซองเอกสารเข้าประมูลคลื่นบ้าง

อลหม่านปิด 2G

อีกกระแสที่ทำให้เกิดความสับสนมากคือ การปิดระบบให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี 2G ซึ่งเลขาธิการ กสทช. ยืนยันมาตลอดว่าจะต้องปิดให้ได้ในวันที่ 31 ต.ค. 2562 เพื่อเคลียร์คลื่นนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าแต่ด้วยผู้ใช้งาน 2G ที่ยังค้างระบบ 3 ล้านราย และแผนการปิดระบบที่ยังไม่ชัดเจน จึงถูกเลื่อนในนาทีสุดท้าย

สงครามราคา “บรอดแบนด์”

ขณะที่ตลาดบริการโทรคมนาคมอื่น อย่างอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ต้องเรียกว่า เปิดสงครามราคากันเต็มที่ ทั้งอินเทอร์เน็ตบ้าน ที่เมื่อต้นปี “ทีโอที-3BB” อัพสปีดสำหรับแพ็กเกจ 590 บาท มาอยู่ที่ 100 Mbps แล้ว กลางปี ทรูอินเทอร์เน็ต ยังจัดแพ็กเกจ 1 Gbps ราคาแค่ 899 บาท ผ่านมาไม่นาน 3BB จัดเต็มทั้ง 1 Gpbs เหลือเดือนละ 790 บาท และอัพสปีด 590 บาทต่อเดือนไปอยู่ที่ 200 Mbps ซึ่งทางฝั่งเอไอเอส ไฟเบอร์ก็โดดร่วมวงด้วย

ฟากโมบายอินเทอร์เน็ตผ่าน 3G/4G ก็ดุเดือดไม่น้อยหน้า ตั้งแต่กลางปี เมื่อ 3 ค่ายมือถืออย่างเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอช ระดมเกทับออกโปรโมชั่นพิเศษ

ให้ลูกค้าแบบเติมเงิน (พรีเพด) ที่เปิด “เบอร์ใหม่” ให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างหนักหน่วง จนมาหยุดที่จ่ายเดือนละ 150 บาท ได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็ว 4 Mbps ไม่อั้น 12 รอบบิล แต่ถ้าจ่ายเดือนละ 200 บาท จะได้ใช้เน็ตความเร็ว 10 Mbps ไม่อั้น และโทร.ฟรีไม่อั้นทุกเครือข่ายเช่นกัน แถมยังขยายให้ลูกค้า “เก่า” ได้ใช้งานด้วย

2 กม.ใหม่-ควบรวมทีโอที

อีกฝั่งของภาครัฐคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “ดีอีเอส” เปิดปีด้วยศึกหนัก ๆ อย่างกระแสการคัดค้าน พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กว่าจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 26 ก.พ.ได้ก็ถูกโจมตียับ

แต่ทว่าการ “ควบรวม” ทีโอทีและ แคท ให้เป็น “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ” ก็ยืดยาวข้ามปี เมื่อรัฐมนตรีดีอีเอสคนใหม่ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” เข้ามาทบทวน ก็ต้องดูว่าปี 2563 จะนับหนึ่งควบรวมได้จริงหรือไม่ แต่ในระหว่างนี้เจ้ากระทรวงดีอีเอสยังเดินหน้าศูนย์ antifake news ต่อเนื่อง

“ศุภชัย” นั่งประธานสภาดิจิทัลฯ

ข้ามมาฝั่งเอกชน ปี 2562 มีองค์กรใหม่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ได้แก่ “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดยมี “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นั่งเป็นประธานคนแรก โดยมีเป้าหมายคือ การยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศสู่ความเป็นผู้นำในระดับโลกด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ของคนไทย

ยังต้องจับตากันต่อไปว่า ปี 2563 ผู้บริโภคได้อานิสงส์ใดอีกบ้าง