คิกออฟกดปุ่มประมูล 5G วิตามินรวมโด๊ป เศรษฐกิจ ปี 2563

เป็นที่น่าจับตายิ่งสำหรับการประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการบนเทคโนโลยี 5G ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจะจัดขึ้นวันที่ 16 ก.พ. 2563 เพราะนอกจากเป็นครั้งแรกที่ กสทช.นำคลื่นความถี่มาประมูลมากถึง 56 ใบอนุญาต รวมจากราคาตั้งต้นมีมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาทแล้ว รัฐบาลยังหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยที่ก้าวล้ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียนจากการเปิด 5G เป็นประเทศแรก ทั้งจะเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนที่สำคัญ

ชักช้าสูญโอกาส 2 ล้านล้าน

เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ย้ำเสมอว่า หากประเทศไทยไม่มี 5G จะสูญเสียโอกาสธุรกิจกว่า 2 ล้านล้านบาท ผลการศึกษาของสำนักงาน กสทช.ระบุว่า หากผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นได้ในปี 2563 จะส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิตที่ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การใช้เครื่องจักร และเซ็นเซอร์อัจฉริยะต่าง ๆ มูลค่า 6.34 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 1.24 แสนล้านบาท จากการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะ

อุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้ 5G วิเคราะห์และจัดการผลผลิต คิดเป็นมูลค่าเพิ่ม 9.6 หมื่นล้านบาท และภาคสาธารณสุขช่วยลดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดภาระด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการสาธารณสุข 3.8 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญยังช่วยลด “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เป็นปัญหาหลักในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม ไม่รวมผลประโยชน์โดยตรงที่เกิดจากการลงทุนโครงข่ายของบรรดาโอเปอเรเตอร์

กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม GDP

การศึกษาเรื่องการลงทุนในเทคโนโลยี 3G และ 4G ระหว่างปี 2556-2561 กับผลทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย “ปวีร์ ศิริมัย” และ “ชุติพงศ์ กี่สุขพันธ์” ระบุว่า 3G และ 4G ทำให้การลงทุนของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเฉลี่ย 69,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับ 3G เพิ่มเป็น 89,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเป็น 4G ยังพบว่าเมื่อบริษัทโทรคมนาคมลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทำให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.016 ใน 4 ไตรมาสที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ และการเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ร้อยละ 10 ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 ในปี 2560

ฉะนั้นเชื่อว่า 5G ซึ่งมีความเร็วและการตอบสนองการรับส่งข้อมูลได้ดีกว่า 4G จะนำมาสู่การลงทุนเป็นมูลค่าสูงกว่าเทคโนโลยียุคก่อน ทำให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ (IoT), virtual reality (VR), ระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การขนส่ง การสื่อสาร และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน คาดว่าจะสร้างผลทางเศรษฐกิจและสังคมอีกมากมาย

ยกระดับบริการเพิ่มความเสมอภาค

ฝั่งเอกชน “อาเบล เติ้ง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2563 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมไอซีทีในไทย จากการเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ของบริการ 5G และเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน ผ่านระบบเซ็นเซอร์ ทุกสิ่งจะก้าวเข้าสู่ความเป็นอัจฉริยะ โดยมีการประเมินกันว่าใน 5 ปีข้างหน้า 5G จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกกว่า 12.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างอาชีพใหม่กว่า 20 ล้านอาชีพ

“วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และอินโดจีน ซิสโก้ กล่าวว่า 5G มีส่วนเพิ่มความเท่าเทียมด้านการศึกษา และยกระดับบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพผ่านระบบดิจิทัลที่เชื่อมต่อกันทั่วประเทศเพื่อการเข้าถึงที่เท่าเทียมกันของประชาชน โดยเฉพาะ “e-Health” จะช่วยให้ไทยเผชิญความท้าทายเร่งด่วนของประเทศจากภาวะสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบและการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
การสำรวจยังพบว่าภาคการเกษตร การขนส่ง การท่องเที่ยวและค้าปลีก การผลิต รวมถึงสาธารณูปโภคและการก่อสร้างยังมีความต้องการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพ

ขณะที่ “พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า 5G จะยิ่งทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอย่างรวดเร็วขึ้นอีก โดยเฉพาะการใช้งานออนไลน์ที่จะมีมากขึ้น ทุกอย่างต้องเร็วขึ้น ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจที่ต้องออกบริการใหม่ ๆ ตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจับตาศึกประมูล

นอกจากประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแล้วในแง่ “เงินรายได้” จากการประมูลก็ค่อนข้างแน่ชัดว่าคงไม่ได้ถึง 1.6 แสนล้านบาท ตามราคาประมูลตั้งต้นของทั้ง 56 ใบอนุญาต เพราะแม้แต่โต้โผใหญ่ “ฐากร” ยังบอกเองว่า “คงต้องฝันไป หากขายคลื่นได้ทั้งหมด”

แต่ในบางย่านคลื่นจะได้เห็นการแข่งขันเคาะราคาที่ดุเดือด หาก บมจ.ทีโอทีและ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) รายใดรายหนึ่งหรือทั้งคู่เข้าประมูลด้วย ตามแรงผลักดันของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยเฉพาะคลื่น 2600 MHz ที่ถือว่า “พร้อมใช้” แม้จะมี 19 ใบอนุญาต แต่จะให้บริการ 5G ได้เต็มประสิทธิภาพต้องใช้คลื่นมากถึง 10 ใบอนุญาต ซึ่งรอบนี้เพียงพอสำหรับ 1 ราย
ที่สำคัญรูปแบบการประมูลเปลี่ยนเป็น “clock auction” ซึ่งมีจุดต่างสำคัญคือราคาจะขึ้นตามขั้นบันไดที่กำหนดไว้ทุกรอบ แม้ผู้เข้าประมูลจะ “ไม่เคาะราคาเพิ่ม” โดยการประมูลจะจบเมื่อ “ความต้องการชุดคลื่น” ที่ผู้เข้าประมูลเสนอมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับชุดคลื่นความถี่ที่ กสทช.นำออกประมูล ตราบใดที่ยังมากกว่า ราคาจะเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ

หวังรัฐวิสาหกิจสกัดฮั้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า การให้รัฐวิสาหกิจเข้าประมูล เพื่อให้รัฐมีคลื่นสำหรับให้บริการ 5G เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ต้องพึ่งพาเอกชน ทั้งยังทำให้เอกชนไม่สามารถตกลงแบ่งผลประโยชน์ในการประมูลกันได้ง่าย ๆ

“การที่ทีโอทีและแคทเข้าร่วมประมูลจะทำให้เอกชนปั่นป่วน ถึงมีกระแสคัดค้านว่ารัฐวิสาหกิจไม่ควรแข่งกับเอกชน แต่ตามกฎหมายทำได้ เพราะเราไม่ได้มุ่งกำไร แต่ต้องการได้คลื่นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

เลขาธิการ กสทช.ประเมินว่าการประมูลครั้งนี้จะมีเอกชนเข้าประมูลใน 2 ความถี่ คือ คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz ขนาด 2,700 MHz จำนวน 4 ใบอนุญาต เป็นเงิน 1,692 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมแล้วรัฐจะได้เงินราว 37,070 ล้านบาท

ถ้า 5G เกิดขึ้นได้ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ และผลศึกษาต่าง ๆ ไม่คลาดเคลื่อนเกินจริงแล้วล่ะก็ 5G แทบไม่ต่างไปจากวิตามินรวมหรือยาวิเศษที่จัดมาเพื่อโด๊ปเศรษฐกิจ