การฝากข้อมูลไว้บนคลาวด์

Photo by Jaap Arriens/NurPhoto via Getty Images

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมกำลังสนใจเทคโนโลยีเรื่อง cloud เพราะส่วนตัวกำลังย้ายระบบฐานข้อมูลทั้งหมด หรือ data center หรือ server ที่เคยอยู่ในประเทศไทยไปอยู่บนคลาวด์ของต่างประเทศ ฟังดูแล้วอาจเจ็บปวดแต่มีความจำเป็นครับ

ถามว่าแล้วทำไมจึงต้องย้าย ?

ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เมื่อก่อนการทำธุรกิจทางด้านอินเทอร์เน็ตหรือบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดกลางก็ตาม ส่วนใหญ่จะมีซอฟต์แวร์ด้านอีซอฟต์แวร์ ซึ่งซอฟต์แวร์สมัยก่อนต้องติดตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์ ต้องมีเซิร์ฟเวอร์แยกตามประเภท มีคอมพิวเตอร์ที่ต้องเปิดไว้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้ซอฟต์แวร์ทำงานได้ และต้องลงโปรแกรมไว้ใน client แต่ละเครื่องด้วย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลจาก database ไปได้

ตอนหลังเริ่มเปลี่ยนไปเป็นซอฟต์แวร์ที่เป็นแบบ web based นั่นหมายถึงการทำงานที่ผ่านโปรแกรม  browser ที่อาศัยการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต แต่อย่างไรก็ยังต้องมี server จะเห็นว่าเมื่อก่อนบริษัท ต้องลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างตั้งห้องที่วางคอมฯขนาดใหญ่ ติดตั้งอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ต้องมีคนเก่ง ๆ คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ

แต่แนวโน้มตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วในแง่ของซอฟต์แวร์ เริ่มเปลี่ยนจากการต้องติดตั้งมาเป็นคลาวด์มากขึ้น และเช่นเดียวกันซอฟต์แวร์หลาย ๆ ตัวที่เคยอยู่ในบริษัทที่จำเป็นต้องไปเช่าเครื่องที่ data center ของบรรดาบริษัทที่ทำอินเทอร์เน็ตในสมัยก่อน เช่น อินเทอร์เน็ตประเทศไทย, KSC, ISSP, CS Loxinfo, A-Net ฯลฯ ถ้าจำกันได้เมื่อก่อนเราต้องซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตที่มีราคาค่อนข้างแพงมากทีเดียว จะใช้ทีหนึ่งต้องโทร.ไปที่ data center หรือ ISP คอมพิวเตอร์ยังต้องมีโมเด็มไว้ต่ออีกด้วย

ฉะนั้น เมื่อก่อนจะมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP อยู่หลายเจ้า แต่ช่วงหลังเราไม่ได้ต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน ISP เหล่านี้แล้ว บรรดา ISP เริ่มล้มหายตายจากไป บางกลุ่มเริ่มเปลี่ยนมาให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้าน เช่น กลุ่มทรู ที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้น AIS เข้ามา หรือ 3BB เอง ตอนนี้บอกได้เลยว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหน้าเดิมไม่ค่อยเหลือแล้ว

แต่เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปและเริ่มมีผู้ให้บริการในลักษณะเป็น server as a service โดยเริ่มต้นจาก Amazon การเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซต้องมีการลงทุนใน infrastructure หลายพันล้าน เขาจึงมีความคิดที่จะแบ่งเซิร์ฟเวอร์ที่มีอยู่จำนวนมหาศาลมาให้คนอื่นเช่าใช้ด้วย จึงเริ่มเกิดแนวคิดสำหรับผู้ทำธุรกิจว่าแทนที่จะต้องลงทุนเซิร์ฟเวอร์เอง ทำไมไม่ไปเช่าใช้ของ Amazon ได้อยู่บนเน็ตเวิร์กที่เป็น global standard อย่างดี แถมยังจ่ายเงินตามการใช้จริง

ธุรกิจคลาวด์แบบนี้เริ่มจาก Amazon เรื่อยมาจนถึงรายอื่น ๆ อย่าง Google, Microsoft และเจ้าใหญ่หลายเจ้าที่ตาม ๆ กันมา ที่สำคัญธุรกิจคลาวด์นี้ทำรายได้ให้กับ Amazon และ Google อย่างมากในปีนี้ที่ผ่านมาด้วย

สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดว่ากระทบกับธุรกิจไทยจริง ๆ คือ จากเดิมที่ต้องวางเซิร์ฟเวอร์ไว้ในประเทศไทยและต้องลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์เกือบ 100 เครื่อง แถมยังต้องมีคนคอยดูแล และคนเหล่านี้ก็หาได้ลำบากด้วย แต่เมื่อมีระบบคลาวด์บางบริษัทในเครือของผมย้ายไปอยู่บนคลาวด์แล้ว จริง ๆ หลายหน่วยงานของรัฐบาลไทยก็ใช้คลาวด์ของ Amazon เช่นกัน

มองในแง่ของธุรกิจนั้นดี เพราะเมื่อพูดถึง Amazon, Google หรือ Microsoft มันมีความเป็น international standard แต่เรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลอาจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ในแง่ของการลงทุนก็ถือว่าคุ้มเพราะเราไม่ต้องมาซื้อคอมพิวเตอร์หรือไม่ต้องรอในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพอีกต่อไป ช่วยทั้งในเรื่องของต้นทุนเงินและเวลา

ในมุมของผู้ประกอบการดูดี คือ ลงทุนน้อยลง จ่ายเงินตามการใช้งานจริง เปิดเพิ่มหรือลดลงตามจำนวนคนใช้งานได้ จ่ายจริงตามปริมาณการใช้งาน แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ ธุรกิจที่ให้บริการ web hosting คือ

รับฝากเว็บไซต์ ตอนนี้แทบหายไปหมดแล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้แนวโน้มผู้ให้บริการลักษณะนี้ในระดับโลกเริ่มเข้ามามากขึ้นและมีค่าบริการเพียงไม่กี่ร้อยบาท ทำให้นักพัฒนาของประเทศไทยเริ่มย้ายไปใช้จ่ายต่างประเทศ เพราะถูกกว่า ประสิทธิภาพดีกว่า เสถียรภาพดีกว่า

ฉะนั้น ในยุคนี้บอกได้เลยว่าธุรกิจที่ฝากข้อมูลไว้ในประเทศไทยที่เป็นรายเล็ก ๆ ล้มหายตายจากไปมากเลย ขณะเดียวกัน ที่เป็นรายใหญ่ก็เริ่มไปแล้วเช่นกัน รายใหญ่หลาย ๆ เจ้าที่ให้บริการ ISP ต่าง ๆ ต้องปรับตัวเองมาเป็น system indicators คือต้องรับพัฒนาต่าง ๆ และก็ต้องทำคลาวด์ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น ตลาดจะแบ่งได้ชัดว่าหากเป็นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ถ้าไม่อยากใช้ของต่างประเทศก็ต้องมาใช้บริษัทที่เป็น ISP ของประเทศไทย แต่บอกได้เลยว่าธุรกิจที่เป็น data center ที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ตอนนี้กำลังถูกต่างชาติกินมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบหลาย ๆ อย่างแล้วผมเองยังต้องไปใช้ของต่างชาติเลยครับ