ถ่ายทอดโอลิมปิก-ฝึกอบรม แห่ขอเงินอุดหนุนกองทุน”ดีอีเอส-กทปส.”

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)

เปิดขุมทรัพย์เงินกองทุนภาครัฐ เฉียดหมื่นล้าน “ดีอีเอส” 5.4 พันล้าน “กทปส.” กว่า 4 พันล้านบาท โครงการรัฐ-เอกชนแห่ขอเงินสนับสนุนทะลุ 1.2 หมื่นล้าน ทั้งฝึกอบรม วิจัย ยันลิขสิทธิ์โอลิมปิก

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ วันที่ 16 ธ.ค. 2562 มีเงินคงเหลือ 5,489.84 ล้านบาท โดยตั้งแต่ตั้งกองทุนปี 2560 ยังไม่เคยให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานใด นอกจากอุดหนุนให้หน่วยงานตามที่ พ.ร.บ.กำหนด ได้แก่ ดีป้า หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉลี่ยปีละ 60 ล้านบาท เนื่องจากต้องรอให้แผนแม่บทดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศใช้ก่อน ซึ่งประกาศใช้เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา จึงมีการประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการขอทุนสนับสนุน และดำเนินการเปิดรับโครงการไปแล้ว 2 ครั้ง คือ มิ.ย. 2562 วงเงิน 2,600 ล้านบาท และ พ.ย. 2562 วงเงิน 2,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา

แห่ขอรับทุนทะลุ 1.2 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการที่จะขอรับเงินสนับสนุนได้ต้องเป็นการพัฒนาดิจิทัลฯ ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ 1.เพื่อส่งเสริม สนับสนุน หน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการพัฒนาดิจิทัลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะไม่แสวงหากำไร แต่ไม่ทำลายการแข่งขันตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน 2.ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ และ 3.จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนแก่ สดช. ส่วนที่นอกเหนืองบประมาณ และเป็นค่าใช้จ่ายให้ดีป้าเห็นสมควร รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการบริการกองทุน

โครงการที่ขอรับเงินสนับสนุนงวดแรก มี 130 โครงการ เป็นเงินกว่า 12,163 ล้านบาท มากกว่ากรอบที่ตั้งไว้ 2,600 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการพัฒนาด้านสังคมดิจิทัล 56 โครงการ วงเงิน 8,990 ล้านบาท โครงการด้านนวัตกรรม 41 โครงการ วงเงิน 629 ล้านบาท ด้านเทคโนโลยี 33 โครงการ วงเงิน 2,544 ล้านบาท มีโครงการที่ผ่านการพิจารณารอบแรก 90 โครงการ วงเงิน 4,195 ล้านบาท

“เราพยายามบาลานซ์ต้องการทั้งอบรม รวมถึงด้านพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้สมดุลกัน แม้ไม่ได้กำหนดกรอบว่าในโครงการด้านสังคม นวัตกรรม เทคโนโลยี ต้องมีกรอบเงินให้ทุนเท่าไร แต่มีการตั้งคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้พิจารณา อาทิ ตัวแทนจาก กลต. จากสมาคมเทคสตาร์ตอัพ และ กสทช. ปลาย ม.ค. น่าจะอนุมัติเงินก้อนแรก 2,600 ล้านบาท”

สำหรับแหล่งรายได้ของกองทุนดิจิทัลฯ มีทางเดียวคือ ตามมาตรา 24 (4) คือ เงินรายได้ 15% ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยในปี 2562 กสทช. นำส่งแล้ว 327 ล้านบาท ขณะที่ตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 กำหนดให้กองทุนมีรายได้ที่สำคัญมาจากเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจําปี 15% ของเงินที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่ ตาม พ.ร.บ. กสทช. และ 15% ของรายได้ของสํานักงาน กสทช.

ขอถ่ายทอดโอลิมปิก 480 ล้าน

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มียอดคงเหลือ 4,000 ล้านบาท หลังหักกรอบวงเงินในโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้ว ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้สำนักงาน กสทช.สนับสนุนงบประมาณในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 จากญี่ปุ่น (ก.ค.-ส.ค. 2563) โดยใช้เงินจากกองทุน กทปส. ราว 480 ล้านบาท

“ถ้า ครม.อนุมัติ กสทช.ก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องถ่ายทอดสดหมุนเวียนกันทุกช่องทีวี ไม่ใช่เฉพาะช่องใดช่องหนึ่ง”

ส่วนการเบิกจ่ายเงินกองทุน กทปส. ที่สำคัญในปี 2562 ได้แก่ โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมของประชาชน สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน 1,996 ล้านบาท และให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา รวม 29 โครงการ วงเงิน 847 ล้านบาทโดยกำลังเปิดรับข้อเสนอโครงการที่สอดคล้องตามนโยบายกองทุน ปี 2562 (ครั้งที่ 2) ถึง 23 ม.ค. 2563 รวมถึงเงินทุนสนับสนุนโครงการวิจัยแบบเปิดกว้างประจำปี 2563 (ครั้งที่ 1) อีก 300 ล้านบาท

ปัจจุบันเงินกองทุนมาจากเงินสมทบเพื่อบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง (USO) จากผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยฝั่งบรอดแคสต์สูงสุดไม่เกิน 2% ของรายได้ และ 2.5% สำหรับโทรคมนาคม นอกจากเงินสมทบจาก กสทช. และรายได้จากการจัดสรรคลื่นที่ได้คืนก่อนกำหนด