“ลาซาด้า-ช้อปปี้”แข่งเดือด ลูกค้าเมืองรอง-ผู้ชายแห่ซื้อ

อีคอมเมิร์ซไทย ยักษ์ข้ามชาติชิงเค้ก 3.8 ล้านล้าน “ลาซาด้า” ดึงคนขายเข้าแพลตฟอร์ม จัดครบทั้งปล่อยกู้-อัพเกรดโลจิสติกส์ “ช้อปปี้” สู้ไม่ถอย ย้ำราคาไม่สำคัญเท่าความต้องการลูกค้า ผนึกพันธมิตร “ประกันภัย-อสังหาริมทรัพย์” เจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ ชี้ “ผู้ชาย-ผู้สูงวัย-ลูกค้าหัวเมืองรอง” แห่ช็อปออนไลน์เพิ่ม

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อีคอมเมิร์ซ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้ยังคงเติบโตและแข่งขันกันดุเดือดเช่นเดิม ทั้งในช่องทางของ “อีมาร์เก็ตเพลซ”และ “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งจากตัวเลขของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้ประเมินมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยว่าจะเติบโตอีก 20% ไปอยู่ที่ราว 3.8 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 22% ไปจนถึงปี 2565

ด้านนายแจ็ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัดกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีคอมเมิร์ซในไทยโตรวดเร็วมาก มีผู้ซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 100% แต่ยังเป็นแค่ 3% ของมูลค่าค้าปลีกเท่านั้น ขณะที่ในจีนมีสัดส่วนถึง 20% ไทยจึงยังโตได้อีกมาก

ขณะที่ผู้ซื้อต้องการโปรดักต์ใหม่ ๆ ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้พึงพอใจอะไรง่าย ๆ อย่างการส่งของที่เราพยายามจะให้เป็นสั่งวันนี้ได้รับวันรุ่งขึ้น และต่อไปอาจได้เห็นสั่งเช้าได้เย็น ลูกค้ายุคนี้อยากได้ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ และต้องการความใส่ใจกับบริการมากขึ้น รวมถึงระบบชำระเงินเดิมช่วงแรกนิยมจ่ายเงินแบบ COD หรือเก็บเงินปลายทาง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเห็นว่าลูกค้าเริ่มหันมาใช้ e-Wallet มากขึ้นเราจึงมี Lazada Wallet มารองรับเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า”

งัดกลยุทธ์ดึงผู้ขาย

ในฝั่งของผู้ขายก็จำเป็นต้องหาวิธีดึงดูดให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของลาซาด้ามากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้มีโปรดักต์ที่หลากหลาย ตอบทุกความต้องการของลูกค้าได้ โดยเฉพาะผู้ขายที่มีทักษะในการปฏิสัมพันธ์สื่อสารกับลูกค้า รวมถึงการให้บริการที่มีประสิทธิภาพกว่าในอดีต

“เราจำเป็นต้องมีผู้ขายที่ขายได้มากกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือนให้มากขึ้น และผู้ขายที่ตั้งเป้าชัดเจนว่าจะต้องทำยอดขายเท่าไรต่อเดือน กลุ่มนี้จะมีความมุ่งมั่นในการสร้างบริการเสริมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างกลุ่มลูกค้าของตนเองจนทำให้มีผู้ติดตามร้านค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับแพลตฟอร์ม”

จัดครบทั้งโลจิสติกส์-ปล่อยกู้

ที่ผ่านมา ลาซาด้ามีเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขาย ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นในการซื้อขายสินค้ารวมถึงจับมือกับสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกสิกรไทยเพื่อให้สินเชื่อกับผู้ขายสินค้า และมีการจัดอีเวนต์ให้ลูกค้าได้สัมผัสสินค้าแบบดั้งเดิมด้วย ซึ่งมีเฉพาะในไทยทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อส่งสินค้าให้ถึงมืออย่างรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า

“เราเชื่อว่าโลจิสติกส์สำคัญ เป็นสิ่งที่ลูกค้ามีความต้องการ และคาดหวังว่าบริการจะต้องส่งได้เร็วขึ้น”

2563 ยังเป็นปีทองอีคอมเมิร์ซ

นางสาวอากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซปีนี้ยังโตก้าวกระโดด จากโครงสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ดีขึ้นจนความพร้อมของผู้ใช้งาน ตลอดจนความเชื่อมั่นในการช็อปปิ้งออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น โดยฝั่งผู้ซื้อจะมีกลุ่มผู้ซื้อหน้าใหม่เพิ่มขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นกำลังซื้อจากกลุ่มผู้ชาย, ผู้สูงอายุ และกลุ่มนักช็อปในเมืองรองเข้ามาจับจ่าย

ดึงธุรกิจออฟไลน์เป็นพันธมิตร

ในแง่ผู้ขายจะเริ่มเห็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มแบรนด์สินค้าที่ไม่ใช่แค่สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ ไม่ว่าจะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, พฤกษาฯ, ออริจิ้นฯ และกลุ่มสินค้าประกันภัยและประกันชีวิต เช่น เมืองไทยประกันชีวิต เมืองไทยประกันภัย ที่มาร่วมมือกับช้อปปี้

แข่งดุหนุนอุตสาหกรรมโต

ขณะที่การแข่งขันของตลาดยังคงรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งช้อปปี้เชื่อว่ายิ่งทำให้ตลาดเติบโตยั่งยืน”ปี 2562 เป็นปีที่ตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วทั้งภูมิภาคและในไทยเฟื่องฟูถึงขีดสุดในทุกมิติ ขยายเข้าสู่ผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย ทุกพื้นที่มากขึ้น อาทิ ช่วงแคมเปญ Shopee 9.9 Super Shopping Day ทั่วทั้งภูมิภาค ออร์เดอร์เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2561 และช่วงที่ขายดีที่สุดใน 1 นาทีขายได้กว่า 187,606 ไอเท็ม ในประเทศไทย แบรนด์และร้านค้าที่ร่วมมือกับช้อปปี้มียอดเข้าชมที่เพิ่มขึ้นกว่า 5,306 เท่า และยอดขายโตขึ้นกว่า 480 เท่าเทียบวันปกติ”

“ราคา” ไม่ใช่ “ที่สุด”

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ช้อปปี้มองว่า “ราคา” เป็นเพียงส่วนหนึ่งในมุมมองของผู้บริโภคเท่านั้น และปัจจัยสู่ความสำเร็จจริง ๆ คือการเข้าใจถึงความต้องการผู้บริโภคอย่างถ่องแท้

“ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าผู้ใช้ต้องการความเป็นโซเชียล ความบันเทิง และการมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ช้อปปี้จึงพัฒนาฟีเจอร์มาตอบโจทย์ อาทิ Shopee Live เกมต่าง ๆ Shopee Feed”

สำหรับปีนี้จะได้เห็นแคมเปญ Double Date ที่แปลกใหม่ออกมาสร้างความตื่นตาตื่นใจเพิ่มขึ้น และจับมือกับพันธมิตรทั้งแบรนด์และผู้ค้าปลีกในการมอบประสบการณ์ช็อปปิ้งออนไลน์ระดับพรีเมี่ยมในทุกหมวดหมู่สินค้า

เร่งมัดใจทั้งผู้ซื้อผู้ขาย

กลยุทธ์หลักของช้อปปี้จะเน้นการสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งออนไลน์ที่ดีที่สุด โดยตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สมบูรณ์แบบ และเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ความหลากหลาย โดยปีนี้จะยังเห็นการจับมือเป็นพันธมิตร เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินค้าจากร้านค้าและแบรนด์ต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงบริการออนไลน์อย่างการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และการค้นหาดีลสินค้า และบริการราคาพิเศษใกล้ ๆ ตัว เป็นต้น


ยักษ์อีคอมเมิร์ซอีกราย “เจดี เซ็นทรัล” ยังเน้นการเพิ่มความสะดวกให้นักช็อปออนไลน์ได้ซื้อของแบบส่งฟรีถึงหน้าบ้านใน 24 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้นางสาวรวิศราจิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาดเจดี เซ็นทรัล กล่าวว่า จากข้อมูล e-Commerce Trend 2019 จากแพลตฟอร์มPriceza พบว่าการค้าหลากหลายช่องทาง(omnichannels) จะมีบทบาทมากขึ้นเพื่อให้บริการอย่างไร้รอยต่อ โดยบริษัทได้ร่วมจัดกิจกรรมกับพาร์ตเนอร์ และเปิดJoy Super Mart ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่เน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภคจาก800 แบรนด์ดังเอาใจกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่และเน้นการนำเสนอสินค้าคุณภาพของแท้100% จากแบรนด์ชั้นนำของไทยและระดับโลกในราคาที่ดีที่สุด