การค้าออนไลน์ข้ามประเทศ ธุรกิจที่น่าจับตาปีนี้

Photographer: Gabby Jones/Bloomberg via Getty Images

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ


จากที่ผมเคยเล่ามาแล้วว่า ได้เคยนั่งคุยกับตัวแทนของ Amazon.com ในประเทศไทย ซึ่งเริ่มบุกเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น แต่เป็นในเชิงการนำผู้ประกอบการไทยออกไปขายในตลาดโลก เนื่องเพราะเขามองว่าสินค้าไทยสามารถนำออกไปขายได้ในตลาดโลกหลายแห่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าสินค้าไทยนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ สินค้าหลายตัวเป็นที่ต้องการของหลาย ๆ ประเทศ แต่อาจยังติดขัดอยู่ที่วิธีการส่งออกของเราเองที่ยังไม่สามารถทำ cross border ได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งที่ตอนนี้ระบบขนส่งทำได้ง่ายขึ้นมาก และเริ่มมีประเภทตัวแทนหรือคนกลางจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่เริ่มนำสินค้าของไทยออกไปขายต่างประเทศผ่านทางมาร์เก็ตเพลซระดับโลกอย่าง eBay, Amazon รวมถึง Alibaba

ผมมองว่าในปีนี้การนำสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศจะเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ การค้าขายแบบ cross border จะเติบโตกันแบบก้าวกระโดด รัฐจำเป็นต้องให้การสนับสนุนและความร่วมมือกับบรรดาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และควรที่จะต้องเป็นผู้ประกอบการคนไทยด้วยกันเอง จึงจะเป็นการเพิ่มโอกาสอย่างแท้จริง

การขายข้ามประเทศสามารถแบ่งเป็น 2 แบบ คือ inbound cross border คือ สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทย และ outbound cross border คือ การส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างหลังนี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการนำสินค้าส่งออกทางออนไลน์ ผ่านช่องทางมาร์เก็ตเพลซระดับโลกหลายแห่ง เช่น Amazon, eBay, Wish, Rakuten และ Alibaba

ปัจจุบันสินค้าที่มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่มีอยู่ใน 3 มาร์เก็ตเพลซดังของไทย คือ JSL (J=JD Central, S=Shopee, L=Lazada) มีอยู่ 135 ล้านชิ้น หรือราว 77% ในขณะที่สินค้าของผู้ค้าไทยมีอยู่เพียง 39 ล้านชิ้น หรือราว 23% เท่านั้น น่าสังเกตว่าสินค้าจีนเริ่มบุกเข้ามามากขึ้น และยิ่งเมื่อมีการเปิด EEC ก็ยิ่งทำให้มีการขนส่งที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ผมมีโอกาสได้เข้าพบกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการมาของธุรกิจของจีนทางออนไลน์ และผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของไทย โดยต้องยอมรับว่า EEC มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เพราะเป็นพื้นที่ที่กลุ่มทุนจากจีนใช้เป็นฐานในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)

การเข้าไปพบครั้งนี้ได้มีการพูดถึงแนวทาง กลยุทธ์ การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงเพิ่มโอกาสการค้าออกไปนอกประเทศมากขึ้น (cross border) ต้องยอมรับว่าทาง EEC เองไม่ได้นิ่งนอนใจ และระมัดระวังในการเจรจา ประสานกับต่างประเทศอย่างมาก เพื่อให้เกิด win-win solutions กันทั้งสองฝ่าย


แม้ว่าขณะนี้ดูเหมือนทางฝ่ายจีนอาจจะเหมือนได้เปรียบอยู่ แต่ทางจีนเองก็เปิดรับข้อเสนอในการที่จะให้ไทยใช้ infrastructure ของเขาเป็นช่องทางนำสินค้าไทยออกไปจีนเช่นเดียวกัน ในจุดนี้เราจำเป็นต้องมีแผนเข้าไปเสนอกับทางจีน ซึ่งผมจะขออาสาทำแผนนี้เอง เพื่อปิด gap โอกาสของผู้ประกอบการไทย เพิ่มความสามารถด้านการค้ากับต่างประเทศให้มากขึ้น รอดูกันต่อไปครับ