3D printing Med เทคโนโลยีไม่ไกลเกินเอื้อม

3D printing หรือการพิมพ์ 3 มิติ เป็นที่เฟื่องฟูในต่างประเทศมาพักใหญ่แล้ว มีการนำไปใช้ในภาคธุรกิจมากมาย ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งของที่จับต้องได้ จนถึงการนำมาใช้เพื่อผลิตเครื่องสำอางหรือแม้แต่อาหาร

สำหรับในประเทศไทยแม้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในวงกว้างนัก แต่ก็มีนักพัฒนาจำนวนไม่น้อยที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่เว้นแม้แต่ในทางการแพทย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA ร่วมกับบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเวทีเสวนาทิศทางและการเติบโตของเทคโนโลยี 3D Med กับวงการแพทย์ในประเทศไทย

“ดร.เจน ชาญณรงค์” กรรมการบริหารบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า 3D printing ในต่างประเทศเกิดมา 20 กว่าปีแล้ว แต่บริษัทเพิ่งมีความคิดที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ดิจิทัลแบบ 2D printing มาสู่การพิมพ์แบบ 3 มิติ ภายหลังจากราคาเทคโนโลยีลดลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มสตาร์ตอัพที่เข้ามาทำธุรกิจนี้

“เริ่มแรก หาญมองไปที่งานเพื่อความยั่งยืนของสังคม ด้วยการเปิดช็อปในมหาวิทยาลัยเพื่อให้อาจารย์และนิสิต เข้าถึงเทคโนโลยี 3D printing เริ่มที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ใช้งานฟรี ทำมาเป็น 4 ปี ผลิตชิ้นงานไปแล้วกว่า 3 พันชิ้นต่อปี และไม่ใช่ของเล่น ๆ แต่เป็นของที่อยู่ในวิชาเรียน ในงานวิจัยเยอะมาก จนกระทั่งหาญเริ่มคิดจะทำธุรกิจในส่วนนี้จริงจัง จึงมองไปที่ภาคธุรกิจ ไปดูงานที่เสิ่นเจิ้น ที่มีงานพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้นแบบสินค้าที่มีงานล้นเมือง มีบริษัทผุดเป็นดอกเห็ด แต่ก็ตระหนักดีว่า บรรยากาศแบบนั้นคงไม่เกิดในประเทศไทย เพราะสภาวะแวดล้อม อีโคซิสเต็มแตกต่างกัน จึงหันมาดูที่จุดแข็งประเทศ เทคโนโลยีการแพทย์ของไทยไม่ล้าหลัง จึงมองไปที่จุดนี้และเริ่มทำงานด้านนี้มา 3 ปีแล้ว”

ทั้งยังเข้าอบรมในหลักสูตร Total Innovation Management Training Program ของ NIA Academy รวมถึงได้ทุนจาก NIA มาครบปีได้เปิดโอกาสของ 3D ให้กับวงการแพทย์ไทย สร้างผลงาน 3D เกินกว่า 50 ชิ้นเพื่อใช้รักษาจริง กระจายไปแล้วใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ คาดว่าอีกราว 3-5 ปีน่าจะเริ่มพิมพ์กระดูกอ่อนและอวัยวะทดแทนให้กับผู้ป่วยได้

การใช้เทคโนโลยี 3D เข้ามาช่วยวางแผนในการรักษานี้ทำให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และลดเวลาในการผ่าตัดลงได้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษา อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งในต่างประเทศพบว่าการสร้างแบบจำลองกะโหลกศีรษะช่วยลดเวลาในการผ่าตัดได้ถึง 3-4 ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่าจากการลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งห้องผ่าตัดและบุคลากรราว 100,000 บาทต่อการผ่าตัดหนึ่งครั้ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายการสร้างแบบจำลองอวัยวะระดับหลักพันถึงหมื่นบาท

จับต้องได้ไม่ต้องจินตนาการ

“นพ.ดร.กรกช เกษประเสริฐ” กรรมการศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND Center) และภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ในประเทศไทยยังนำ 3D printing มาใช้น้อยมาก ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามักนำมาใช้ในกรณีที่มีการผ่าตัดที่ซับซ้อนมาก ๆ อาทิ โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก

“CT scan ยังต้องอาศัยจินตนาการ เพราะเป็นภาพ 2 มิติที่ต้องไล่ดูทีละคัต แล้วต้องเอามาจินตนาการต่อกัน ต่างกับการมองภาพ 3 มิติ หรือถ้าดูแค่ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่แม้ปัจจุบันจะสามารถนำมาสร้างเป็นภาพ 3 มิติ ได้แล้วก็ตาม แต่แพทย์ผู้ผ่าตัดต้องการจะต้องลองจับอวัยวะนั้นในมือ เพื่อหามุมที่เหมาะสมในการผ่าตัดได้ มองเห็นอวัยวะได้ในหลายมิติ สามารถเข้าถึงจุดต้นเหตุของปัญหาได้อย่างเร็วที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ทั้งยังสามารถเลือกใช้วัสดุที่ยืดหยุ่นผิวสัมผัสคล้ายของจริงได้ด้วย อีกกรณีที่เห็นประโยชน์ได้ ก็คือเด็กแฝดสยาม ซึ่งมักจะมีอวัยวะบางอย่างร่วมกัน การใช้ 3D printing ทำให้วางแผนได้ถูกต้องว่า จะผ่าตัดอย่างไรถึงจะแยกฝาแฝดออกจากกันได้ดีที่สุด”

ขณะเดียวกัน ยังทำให้แพทย์สามารถอธิบายขั้นตอนการรักษากับญาติและผู้ป่วยได้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถนำไปใช้วางแผนและทดลองการรักษาก่อนผ่าตัดจริงได้ เมื่อแผนการรักษาดีตั้งแต่ต้น ก็ทำให้คนไข้ และแพทย์สบายใจขึ้นว่า แต่ละขั้นตอนต้องทำอะไรบ้าง

แรงงานราคาถูกคืออุปสรรค

กรรมการบริหาร บมจ.หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา 3D printing ในประเทศไทยคือ การที่รัฐมีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพ มีราคาถูก รวมถึงแรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีฝีมือค่าแรงไม่แพง ทำให้การใช้เทคโนโลยี 3D printing มาทดแทนการผลิตอวัยวะเทียมแบบเดิม มีราคาที่แพงกว่าในหลายกรณี

“การทำอวัยวะทดแทนด้วย 3D printing เป็นการผลิตเฉพาะคน ทำให้ใช้งานสะดวกสบายกว่า สวยงามกว่า แต่ราคาก็แพงกว่า ทำให้ในประเทศไทยมีผู้ผลิต 3D printing เพื่อการแพทย์แค่ 3 แห่ง คือ ที่ศูนย์การแพทย์ชลบุรี Meticuly (เมติคูลี่) สตาร์ตอัพ DeepTech ที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโลหการมาผสมผสานกับเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ และความรู้ด้านการแพทย์พัฒนากระดูกไทเทเนียมเพื่อความต้องการแบบเฉพาะบุคคล และหาญฯ”

“3D printing มีข้อดีคือ สามารถผลิตออกมาเฉพาะบุคคล ให้เหมาะเป็นคน ๆ ได้ ไม่เหมือนเทคโนโลยีเดิมที่เหมือนเป็นการตัดเสื้อโหล ที่อาจจะทำให้เวลาใช้งานไม่สะดวกสบายเท่า เพราะความเสียหายในร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ด้วยราคาแล้วยังแพง อย่างการพิมพ์แขนขาเทียมด้วย 3D printing สามารถจะทำได้ แต่เครื่องที่จะใช้พิมพ์ต้องมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก เครื่อง 3D ที่ราคาลดลงมาในระดับที่จับต้องได้ ยังเป็นเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก จึงทำให้เทคโนโลยีการผลิตแขนขาเทียมที่ใช้ในปัจจุบันมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า”