5G กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้าน กสทช.ปักธง “ไทย” ที่หนึ่งในอาเซียน

ในงานสัมมนา “2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดย บมจ.มติชน “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ย้ำถึง “แสงสว่างของประเทศ” จากการลงทุน 5G

“รองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้พูดแล้วว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งการลงทุน 16 ก.พ.นี้ คือ วันประมูลคลื่น 5G ที่จะต้องเกิดขึ้น สิ่งที่ กสทช.เตรียมการไว้ คือ ปลายเดือน ก.พ.จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เดือน มี.ค.จะต้องมีการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์สำหรับให้บริการ 5G ทันที”

และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ ไม่ใช่การทดลองทดสอบเหมือนประเทศอื่น ๆ

“มาเลเซียประกาศ 20 ม.ค. ก็เป็นการทดลองทดสอบที่เกาะลังกาวีเท่านั้น แต่ไทย พ.ค.นี้จะได้ใช้จริง เป็นบริการเชิงพาณิชย์จริง ๆ เร็วกว่าเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นช่วง ต.ค. 2563”

โดย กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ใน 4 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 MHz และ 26 GHz โดยเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ ด้วยรูปแบบการประมูล clock auction รวม 56 ใบอนุญาต มูลค่า 160,577 ล้านบาท

คาดในการประมูลครั้งนี้ อย่างน้อยจะได้รายได้เข้ารัฐ 54,654 ล้านบาท โดยมาจากการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ซึ่งสามารถนำมาใช้ให้บริการ 5G ได้ทันที จะประมูลได้ทั้งหมด 19 ชุด คิดเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท คลื่นย่าน 700 MHz จะประมูลได้จำนวน 2 ชุด คิดเป็นเงิน 17,584 ล้านบาท และความถี่ย่าน 26 GHz จะประมูลได้จำนวน 4 ชุด คิดเป็นเงิน 1,692 ล้านบาท

“เมื่อมีการเปิดให้บริการ กระบวนการของ กสทช.จะเร่งรัดออกใบอนุญาต เพื่อให้โอเปอเรเตอร์นำเข้ามาติดตั้ง ตอนนี้เป็นช่วงค่าเงินบาทแข็ง ก็ขอให้รีบนำเข้าอุปกรณ์มาก่อนเลย ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส จะได้อุปกรณ์ที่มีราคาถูกลง ตัวเลขที่ กสทช.ทำไว้ ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป จะมีการลงทุนจากโอเปอเรเตอร์ปีละกว่าแสนล้านบาท แล้วยังมีตัวคูณทวีอีกมาก ทั้งการจ้างงาน 62,000 กว่าล้านบาท และการต่อยอดหลังเปิดให้บริการแล้ว”

โดยการขับเคลื่อน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท


“ทั้งหมดยังเป็นการประเมินขั้นต่ำ เพราะตอนเกิด 4G กสทช.คาดการณ์ตัวเลขต่ำเกินไป ปรามาสการใช้งานของคนไทยที่สูงกว่าที่ กสทช.คาดไว้เป็น 10-20 เท่า เชื่อว่า 5G ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เช่นกัน ทางออกของประเทศไทยกำลังมีแสงสว่างแล้ว ขณะนี้ กสทช.ทำทุกอย่างตามสเต็ป ไม่ได้อยู่ในโลกของความฝัน เท่าที่คุยกับเวนเดอร์ทุกราย มีการติดต่อขอซื้ออุปกรณ์กันหมดแล้ว ขณะที่ทุกโอเปอเรเตอร์ไม่ว่า เอไอเอส ดีแทค ทรู ทีโอที แคท ก็มาขอรับซองเอกสารการประมูลหมดแล้ว”