Butterfly iQ อัลตราซาวนด์ฉบับพกพา

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

การตรวจอัลตราซาวนด์เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่แพทย์ใช้วินิจฉัยโรค แต่ตัวเครื่องและอุปกรณ์มีราคาแพงทำให้มีประชากรกว่า 4.7 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงได้

สตาร์ตอัพวันนี้กำลังทำให้ปัญหานี้หมดไป “Butterfly Network” ผลิตเครื่องอัลตราซาวนด์ Butterfly iQ ขนาดเล็ก ราคาย่อมเยาใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ราคา 2,000 เหรียญ มีระบบผ่อนดอกเบี้ย 0% พกใส่กระเป๋าเสื้อได้ เวลาใช้งานเพียงเสียบสายเชื่อมต่อกับมือถือหรือแท็บเลตก็ดูภาพอัลตราซาวนด์ได้แบบเรียลไทม์

ซอฟต์แวร์มี preset มาให้สำหรับตรวจอวัยวะ 13 แบบ (ช่องท้อง กล้ามเนื้อกระดูกหลอดเลือด ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ ปอด ฯลฯ) โดยหัวตรวจของ Butterfly iQ ใช้ได้กับทุก preset ทำให้สะดวกใช้งาน ไม่เหมือนเครื่องใหญ่ แถมเรียกดูข้อมูลคนไข้ แคปรูป ส่งต่อให้ทีมแพทย์ช่วยวินิจฉัยหรืออัพโหลดขึ้น butterfly cloud หรือส่งเข้าระบบ PACS ที่ รพ.ใช้จัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ได้ทันที

Butterfly iQ ย่อส่วนเครื่องใหญ่มาอยู่ในชิปขนาดจิ๋ว ถึงความละเอียดไม่เท่าเครื่องใหญ่แต่ใช้เป็น POCT (point-of-care testing) หรือเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ ณ จุดตรวจ ลดเวลารอผลจากห้องแล็บ ซึ่งในภาวะวิกฤต การรออาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

เมื่อเทียบกับเครื่องอัลตราซาวนด์ทั่วไปที่มีราคา 6-8 หมื่นเหรียญ Butterfly iQ ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาเป็นมิตรโดยเฉพาะกับ รพ.ขนาดเล็กและสถานพยาบาลในชนบทหรือในประเทศยากจนที่มีงบฯจำกัด

สำหรับคนจน ยังหมายถึงโอกาสที่จะได้รับการตรวจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหรือต้องเดินทางไกล

“โจนาทาน รอทเบิร์ก” ก่อตั้ง Butterfly Network ในปี 2011 ก่อนหน้านั้นลูกสาวเขาป่วยเป็นโรค “ทูเบอรัส สเคลอโรซิส คอมเพล็กซ์” (TSC) ทำให้เกิดเนื้องอกตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายและต้องตรวจอัลตราซาวนด์หลายครั้ง ทุกครั้งพ่อลูกต้องนั่งรอเป็นชั่วโมงกว่าเครื่องจะว่าง

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยา (ปริญญาเอกด้านชีววิทยาจากเยล และเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี next generation DNA-sequencing) โจนาทานนำประสบการณ์นั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นหาทางผลิตเครื่องอัลตราซาวนด์ที่มีราคาถูกเพื่อที่ รพ.จะได้ซื้อมาให้บริการได้มากขึ้น และใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา

หลังจากนั้น “โจนาทาน” เริ่มระดมทุนและจ้างทีมงานหัวกะทิพัฒนาเครื่องอัลตราซาวนด์ในฝันของเขาขึ้นมา

โชคดีที่เรื่องระดมทุนไม่ใช่ปัญหา เพราะโจนาทาน เคยตั้งบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายแห่ง (เช่น Ion Torrent และ 454 Life Sciences) ทั้งเคยได้รับเหรียญสดุดี National Medal for Innovation and Tech-nology จากประธานาธิบดี “บารัก โอบามา” ในฐานะผู้มีส่วนผลักดันวิวัฒนาการเทคโนโลยี

ในที่สุด Butterfly iQ ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยาของอเมริกาก็ได้ฤกษ์วางจำหน่ายในปี 2018

ตั้งแต่ก่อตั้งมาบริษัทระดมทุนได้ทั้งสิ้น 350 ล้านเหรียญ และมีมูลค่าอยู่ที่ 1.25 พันล้านเหรียญ

ตลาดของ Butterfly iQ ไม่ใช่แค่แพทย์หรือ รพ.ในอเมริกา แต่รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทั่วโลกกว่า 40 ล้านราย เป้าหมายคือ ทำให้ประชากร 2 ใน 3 ของโลก หรือราว 4.7 พันล้านคนเข้าถึงการตรวจอัลตราซาวนด์ในที่สุด และแน่นอนว่า ย่อมหมายถึงโอกาสสร้างรายได้มหาศาลสำหรับสตาร์ตอัพด้วยเช่นกัน