12 เทรนด์การค้าออนไลน์ประเทศไทย 2563

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

อีคอมเมิร์ซไทยปีที่ผ่านมาดุเดือดร้อนแรง ทำให้เริ่มมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ได้ชัดขึ้น ซึ่งผมมองว่าจะมี 12 เทรนด์ใหญ่ ๆ

1.JSL Marketplace เริ่มทำรายได้แล้ว ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ทั้ง 3 ก็คือ JD Central, Shopee และ Lazada จะเริ่มทำกำไรมากขึ้น ในปีที่ผ่านมา Lazada และ Shopee ได้เก็บค่าคอมมิสชั่นและค่าบริการต่าง ๆ แล้ว จึงเป็นปีที่จะเริ่มทำรายได้แล้ว

2.สงคราม e-Wallet แข่งกันดึงเงินลงกระเป๋า ปีที่ผ่านมา e-Wallet เริ่มตั้งไข่ และจะเติบโตมากขึ้นในปี 2563 e-Wallet จากรายงานของแบงก์ชาติ พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2562 การใช้งาน e-Money มีปริมาณทั้งสิ้น 473.27 ล้านรายการ คิดเป็น 67 พันล้านบาท ส่วนปี 2561 ใช้จ่าย 1,510.84 ล้านรายการ มูลค่า 209 พันล้านบาท เติบโตมากจากปี 2561 เรียกว่าสงคราม e-Wallet มาถึงแล้ว

3.สงคราม e-Logistic ปีที่ผ่านมามีบริษัทขนส่งแบบออนไลน์เป็นสิบบริษัท ทั้งแบบที่เพิ่งเปิดและมาจากจีน สำหรับปีนี้ บอกได้เลยว่าจะผุดขึ้นมาอีกเยอะมาก ยังไม่รวมพวก Grab Express หรือ GET Express ซึ่งเริ่มกระโดดเข้ามาบ้างแล้ว ต่อไปไม่ใช่แค่ส่งภายในวันเดียว แต่จะเป็นภายใน 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

4.เก็บ-แพ็ก-ส่งสินค้า ธุรกิจมาแรง ธุรกิจ fulfillment จะให้บริการเยอะขึ้น คนจะเริ่มนิยม outsource คือจ้างแวร์เฮาส์ คนแพ็กของ ส่งของ ผมบอกได้เลยว่าปีนี้จะชัดมากขึ้นอีก fulfillment ในเมืองไทยอาจมีอยู่ไม่เยอะมากนัก เช่น Siam Outlet, MyCloud Fulfillment นอกจากนี้ บริษัทขนส่งหลายเจ้าก็เริ่มมาทำเอง Lazada ก็มี fulfillment เป็นของตัวเอง

5.brand จะกระโดดเข้าสู่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง การมี mall ต่าง ๆ เช่น Shopee Mall, LazMall และ JD Central จะทำให้แบรนด์ต่าง ๆ กระโดดมาขายออนไลน์มากขึ้น กระทบบรรดายี่ปั๊วซาปั๊ว หรือตัวแทนสินค้าอย่างแน่นอน เพราะผู้ผลิตสินค้าหรือโรงงานเริ่มขายตรงกับผู้บริโภคเอง

6.cross border โตก้าวกระโดด การขายข้ามประเทศแบบ inbound cross border คือสินค้าที่มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนที่มีอยู่ในมาร์เก็ตเพลซใหญ่ ๆ ของไทยมีประมาณ 135 ล้านชิ้น หรือราว 77% เริ่มเห็นชัดว่าสินค้าจีนเริ่มบุก และส่งเร็วมากขึ้นจากการเปิด EEC ดังนั้น รัฐบาลต้องเน้นที่การนำสินค้าไทยออกขายทางออนไลน์ไปต่างประเทศ อย่าง Amazon, eBay, Wish, Rakuten และ Alibaba ก็เป็นช่องทางได้

7.social commerce ยังโตต่อเนื่อง เม็ดเงินโฆษณามหาศาลเทลงมาในโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว

8.ปีของการ live & conversational Commerce เทรนด์นี้มาจริง ๆ แล้ว จะเห็นว่า Lazada เอง Shopee เองก็มีไลฟ์ขายของ ปีนี้จะได้เจอแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นเพื่อไลฟ์ขายของโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการทำระบบการจัดการขายบนไลฟ์นั้นได้เลย

9.ข้อมูล e-Commerce ก่อให้เกิดธุรกิจอื่น ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวว่าการจับมือของผู้ที่มีข้อมูลอย่าง Lazada จับมือกับ KBank เกิดธุรกิจการปล่อยกู้ หรือ SCB จับมือกับ GET ก็ปล่อยกู้ ฯลฯ ปีนี้จะได้เห็นมากขึ้น

10.เป็นยุคของ e-Commerce เฉพาะทาง หรือ vertical e-Commerce อย่างพวก Konvy มาร์เก็ตเพลซขายเครื่องสำอาง Pomelo มาร์เก็ตเพลซที่ขายสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแฟชั่น BUILK.com มีมาร์เก็ตเพลซที่ชื่อว่า Yello ขายอุปกรณ์ก่อสร้าง NocNoc ขายเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

11.omni channel มาแล้วของจริง ทุกช่องทางจะประสานเข้ากันชัดเจน

12.ปีนี้กฎหมายดิจิทัลมาครบชุด คือ พ.ร.บ.ภาษีอีเพย์เมนต์, พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.คุุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, พ.ร.บ.ภาษี e-Business เมื่อทั้ง 6 ฉบับนี้ทำงานครบ จะสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น บางอย่างเป็นข้อดี เช่น ภาษี e-Business ที่จะทำให้ต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยต้องเสียภาษี และได้เห็นตัวเลขสำคัญหลายอย่าง และต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมายต่อไป

การค้าออนไลน์ในประเทศไทยทั้ง 12 เทรนด์นี้มีผลกับธุรกิจของท่านอย่างแน่นอน ผมอยากให้คนที่ทำธุรกิจได้รู้ตัวว่าต้องทำอย่างไร และเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลอย่างจริงจัง ผมได้จัดทำข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องนี้ไว้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูเพิ่มเติมและดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/2N9tMBT ครับ