5G – ดิจิทัลอีโคโนมี รัฐต้องทำให้สุด ‘วัดผล-ปรับเร็ว’

สัมภาษณ์

ท่ามกลางการโหมโปรโมต 5G ที่ กสทช.ได้ย้ำถึงผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดอีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับ 5G ดิจิทัลอีโคโนมีและสตาร์ตอัพ ในสายตาของ “วิไลพร ทวีลาภพันทอง” หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (PWC) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก

Q : 5G สำคัญกับเศรษฐกิจมาก

5G จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ พลิกโฉมอุตสาหกรรม เปลี่ยนอย่างก้าวกระโดด เป็นการก้าวข้ามเหมือนอย่างที่เมียนมา จากที่ไม่มีโทรศัพท์ประจำที่มาก่อนก็กระโดดไปที่สมาร์ทโฟนเลย แต่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นฉับพลันทันที เพราะกว่ารัฐบาลจะจัดการเรื่องไลเซนส์ให้ผู้ชนะประมูล แล้วยังไม่นับเงินลงทุนเครือข่ายทั้งหมด แล้วยังมีการลงทุนด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ คิดว่าต้องใช้เวลา 3-4 ปี ในการปูพรมอินฟราสตรักเจอร์

Q : ไทยจำเป็นต้องมีรายแรกในอาเซียน

ควรนะ เพราะตอนนี้สหรัฐกับจีนก็แข่งกันเรื่อง 5G นี่แหละ แล้วถ้าไทยไม่รีบทำ ให้ประเทศอื่นไปก่อน อย่างเวียดนาม เศรษฐกิจเขาดีกว่าเราเยอะ ถ้าไทยไม่มีตัวดึงดูดอื่นมาช่วยก็ยาก

Q : แต่จังหวะนี้ใคร ๆ ก็รัดเข็มขัด

ถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยีในยุคนี้ไม่ลงทุนไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราจะทำก่อนหรือหลังคนอื่น ถ้าไปได้ก่อนประกอบกับใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จริง ๆ น่าจะเป็นตัวที่ชูเศรษฐกิจได้ เพราะเอาจริง ๆ ตอนนี้อัตราการเติบโตภายในประเทศไม่ค่อยจะมี ในธุรกิจก็เหมือนกัน ทุกคนต้องทำอยู่ 2 อย่าง คือ หาทางไปโตนอกประเทศ กับเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุน

แต่ถ้าเราไม่มีอินโนเวชั่นใหม่อยู่เลย นักลงทุนเข้ามาก็ต้องถามว่า ประเทศไทยมีอะไรน่าสนใจอยู่บ้าง ค่าแรงเราก็ไม่ได้ถูกแล้ว แรงงานก็ unskilled เยอะ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าดูในเม็ดเงินลงทุนในอาเซียนที่วิ่งหนีสงครามการค้ามา ก็วิ่งไปเวียดนามหมด ตอนนี้ไทยไม่ได้มีอะไรที่เด่นพอ ทุกอย่างทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกัน รัฐสนับสนุนด้านไลเซนส์ เอกชนต้องช่วยด้านอินฟราสตรักเจอร์ ซึ่ง 5G อยู่ที่ used case ที่จะทำให้สมาร์ทโซลูชั่นเกิดขึ้นได้จริง

แต่ก็ยอมรับว่า ในแง่ของโอเปอเรเตอร์ที่ต้องลงทุนโครงข่าย ก็อาจจะต้องรอดูว่ารัฐจะช่วยอะไรได้บ้างในแง่ของเม็ดเงินลงทุนที่จะต้องใช้เยอะมาก และบางรายเพดานเงินกู้อาจจะใกล้เต็ม

Q : รัฐก็ดันดิจิทัลอีโคโนมี

แต่ยังเกิดได้ช้ามาก 5G อย่างเดียวก็ช่วยไม่ได้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่วิชั่นไมนด์เซตของคน แล้วก็ skill ซึ่งยังด้อย ไม่ลงไปถึงรากหญ้า อย่างในสิงคโปร์เขาเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนใหม่หมดตั้งแต่มหาวิทยาลัยถึงระดับประถมให้สอดรับกัน แต่ภาคการศึกษาไทยยังไม่ค่อยขยับ ทั้งที่ควรจะปรับยกแผงตั้งแต่สิ่งที่สอนไปจนถึงการเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน การคิดวิเคราะห์ สอนการทำงานแบบ agile เพราะเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้น ต้องเป็นคนที่เปลี่ยนได้ตามยุคสมัยและเรียนรู้เร็ว

Q : ถ้าอยากเร่งดิจิทัลอีโคโนมี

ต้องปรับหลายอย่างมาก อย่างแรกคือ ต้องปรับให้ภาครัฐเป็นต้นแบบที่ดีก่อน ต้อง educated คนออกนโยบายต่าง ๆ ไม่เช่นนั้นนโยบายที่ออกมาก็จะใช้ไม่ได้จริง อย่างในขณะที่ภาครัฐพูดถึงเราจะต้องไปอุตสาหกรรม 4.0 แต่ประเทศอื่นไป 5.0 แล้ว คือ ก้าวไปสู่การใช้โรบอต ทำให้โรบอตกับคนเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ซึ่งเอกชนก็พยายามจะก้าวไปแต่ความเร็วอินเทอร์เน็ตมันไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่อยากจะให้รีบทำ คือ เข็นไลเซนส์ 5G ออกมาให้ได้ เพราะไลเซนส์เป็นเรื่องเดียวที่เอกชนทำเองไม่ได้ เพื่อจะได้เกิดการลงทุน เกิด used case เกิดการนำไปใช้ต่อ เพราะถ้าแรงงานเป็นแบบ unskilled ก็ต้องหันไปใช้ระบบออโตเมชั่นแทน

Q : แต่รัฐบาลก็หนุนสตาร์ตอัพมาก

สตาร์ตอัพก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของดิจิทัลอีโคโนมีเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด แล้วเป็นโมเดลที่จะต้องลองผิดลองถูกเพราะไม่มีใครรู้ว่ามันจะเวิร์กหรือไม่

แล้วยังต้องมีกลไกที่ดีของรัฐซัพพอร์ต อย่างอิสราเอลมีกลไกซัพพอร์ตที่ดีมาก รัฐบาลมีตัวแทนไปอยู่ที่สถานทูตของทุกประเทศวิ่งไปถามหาความต้องการของแต่ละประเทศแล้วจัดคู่สตาร์ตอัพให้ แล้วมีโปรแกรมช่วยงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ที่จะช่วยจับคู่กับบริษัทต่างชาติในการร่วมกันพัฒนา ยังมีโครงการอบรมบ่มเพาะกับภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ ว่าจะผลิตอย่างไรให้ได้แมส ให้ตรงกับใจของอุตสาหกรรม

แต่ในไทยยังไม่ได้ทำให้สุดแบบนั้น จะเน้นแค่ให้มาประกวดแข่งขันกัน โหมโปรโมตกันในส่วนนี้ แล้วประกวดเสร็จไปทางไหนต่อ ช่วยเขาจนสุดทางไหม

ที่สำคัญคือ อย่างอิสราเอลประชากร 7-8 ล้านคน แต่มีสตาร์ตอัพเกือบ7 พันบริษัท ถือว่าเยอะที่สุดถ้าเทียบกับจำนวนประชากร และเขาก็จะมีงานวิจัย มีข้อมูลทุกปีว่า มีสตาร์ตอัพที่ขายกิจการได้เท่าไร สตาร์ตอัพที่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่าไร ไปร่วมทุน JV เท่าไร ซึ่งทุกปีมีสตาร์ตอัพที่ขายออกไปได้ในวงเงินเท่ากับเป็นยูนิคอร์น คือ พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เราไม่เคยเห็นข้อมูลตรงนี้ที่เป็นของประเทศไทย อยากให้รัฐบาลมาเริ่มที่ตรงนี้ ไม่ใช่ช่วยผลักแค่ช่วงต้น ๆ แล้วก็ พี.อาร์.เยอะ แต่ก็แล้วไงต่อ

สตาร์ตอัพไทยมีเยอะ แต่สิ่งที่ต้องการไม่ใช่จำนวนแต่ต้องการคุณภาพ

หลัก ๆ คือ อยากให้รัฐบาลมีการวัดผลทุกครั้งว่า แต่ละสิ่งที่ทำ ทำแล้วเวิร์กไหม แล้วถ้ามันไม่ใช่หรือไม่เวิร์กก็ต้องยอมรับแล้วปรับแก้ให้เร็ว