5 เรื่องหลักที่ควรรู้ รับมือดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรม : RISE ระบุว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 5 หัวข้อหลัก ที่ล้วนแล้วแต่เป็นความเคลื่อนไหวของโลกที่มีความสำคัญ และมีผลต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กร ได้แก่ 1) corporate innovation (นวัตกรรมองค์กร) 2) future of work (การทำงานในอนาคต) 3) deeptechnology (เทคโนโลยีขั้นสูง) 4) creative innovation (นวัตกรรมสร้างสรรค์) และ 5) social innovation and sustainability (นวัตกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืน)

โดย “อรุณเทพ แสงวารีทิพย์” Executive Transformation Coach, SCG มองว่า ในประเทศไทย 5 หัวข้อหลักนี้สำคัญ และหัวข้อที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด จะเป็นหัวข้อ Corporate Innovation ที่ต้องเร่งพัฒนาอยู่ตลอด เพราะจากการสำรวจเกี่ยวกับนวัตกรรมองค์กรในเอเชีย พบว่า 70% ของกลุ่มผู้บริหารในองค์กรชั้นนำ เชื่อว่า ดิสรัปชันเป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญและต้องหาทางรับมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีเพียง 30% เท่านั้นที่คิดว่าองค์กรของตนนั้นมีแผนการพร้อมที่จะเผชิญแล้ว ฉะนั้นสิ่งแรกที่ควรลงมือทำ คือการสร้าง Mindset, Skillset และ Toolset พร้อมทั้งต้องมีระบบสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้มีผลในระยะยาว ทั้งหมดนี้จะเริ่มได้นั้นต้องเริ่มจากระดับซีอีโอ

แต่ “ทักษะของคน” คืออุปสรรคสำคัญ องค์กรควรให้ความสำคัญกับ “เทคโนโลยี” ส่งผ่านองค์ความรู้ไปสู่บุคลากรด้วย

“องค์กรไม่ต้องเปลี่ยนทั้ง 100% ก็สร้างอิมแพ็กต์ได้ แค่ 20-30% กลุ่มคนกลุ่มนี้ก็จะสร้างเม็ดเงินก้อนใหม่ได้ เช่นเดียวกันกับ SCG ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคตด้วยคนกลุ่มเล็กๆ แต่สำคัญที่วิชั่นของซีอีโอต้องพร้อมปรับพร้อมทรานส์ฟอร์ม”

ขณะที่ “วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา” Director, Advance Imaging Research Center, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุว่า deep technology เป็นสิ่งที่สำคัญ และมองว่าในประเทศไทยมีศักยภาพพอที่จะสามารถพัฒนาในต่อไปได้ เพราะประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความพร้อม ซึ่งหากมีการสร้าง ecosystem ในการเรียนรู้ที่เหมาะสมก็จะทำให้พัฒนาไปได้อีกไกล


ทั้งคู่ยังมองตรงกันว่า ถ้าองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยจะเริ่มก้าวเข้าสู่ 5 หัวข้อหลักนี้ จะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยมองว่า 3 วิธี สร้างและเร่งสปีดนวัตกรรมในองค์กร จาก RISE เป็นตัวอย่างที่ดีในการปรับตัวก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง นั่นคือ 1) mindset (การเปลี่ยนชุดความคิดเดิม) 2) skill set (การสร้างทักษะจากการลงมือทำจริง) และ 3) tool set (การติดตั้งเครื่องมือในองค์กร)