ดีป้ามึนงบ”63ดีเลย์สะเทือนเวิลด์เอ็กซ์โป

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

งบฯปี”63 ดีป้าสะดุด กว่า 800 ล้านบาท เงินเบิกจ่ายค่าก่อสร้างไทยพาวิลเลี่ยนเวิลด์เอ็กซ์โป ดูไบ มีไม่พอ แถมต้องเร่งให้เสร็จทัน “ก.ค.” นี้ ขณะที่โครงการใหม่ “สมาร์ทซิตี้” 13 จังหวัดยังนับหนึ่งไม่ได้

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้เมื่อใดนั้น ส่งผลกระทบกับการปฏิบัติงานตามแผนของดีป้า ใน 2 ส่วน ส่วนแรก คือ โครงการที่ผูกพันต่อเนื่อง อย่างโครงการก่อสร้างไทยพาวิลเลี่ยนในงานเวิลด์เอ็กซ์โปที่ดูไบ ซึ่งขณะนี้ได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างไปแล้ว 3 งวด และกำลังอยู่ในการตรวจรับการก่อสร้างในงวดที่ 4 ตามสัญญาจ้าง

“งบประมาณสำหรับก่อสร้างไทยพาวิลเลี่ยนที่ตั้งเป็นงบฯผูกพันไว้ในปี 2563 มีทั้งหมด 285 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้งบฯไปพลางก่อนมาเบิกจ่ายได้เพียงพอจนถึงการก่อสร้างงวดที่ 4 เท่านั้น หากมีการเบิกจ่ายงวดที่ 5 ก็จะไม่มีเงินเหลือเพียงพอแล้ว ก็อาจจะต้องเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ และไม่ชะลอการก่อสร้าง เพราะตามกำหนดเส้นตายของผู้จัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป ทุกพาวิลเลี่ยนต้องสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน มิ.ย.นี้ อย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือน ก.ค.”

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างสถาบันไอโอที ในพื้นที่ดิจิทัลพาร์ค ศรีราชา ที่มีงบฯผูกพันไว้ 230 ล้านบาท ในปีงบประมาณนี้ ก็อาจจะต้องเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ แต่เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ขณะที่ในส่วนที่สอง โครงการใหม่ที่วางแผนจะเริ่มทำในปีนี้อย่างโครงการสมาร์ทซิตี้ใน 13 จังหวัด ภายใต้วงเงินงบประมาณ 202 ล้านบาท จะยังไม่สามารถเริ่มต้นโครงการได้จนกว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย จะประกาศใช้ อาทิ โครงการพัฒนาสมาร์ททัวริซึ่ม ที่จะพัฒนาด่านตรวจคนเข้าเมืองอัจฉริยะพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร หนองคาย นครพนม วงเงิน 54 ล้านบาท โครงการต่อยอดด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำในจังหวัด ภูเก็ต กระบี่ วงเงิน 64 ล้านบาท โครงการสมาร์ทซิตี้ของจังหวัดอุบลราชธานี และอุดรธานี 35 ล้านบาท โครงการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบเตือนภัยธรรมชาติตามแผนสมาร์ทซิตี้จังหวัดนครศรีธรรมราช 29 ล้านบาท โครงการพัฒนระบบส่งต่อทางการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่น 19 ล้านบาท

รวมไปถึงโครงการต่อยอดสมาร์ทพอร์ต ที่ท่าเรือกรุงเทพอีก 49 ล้านบาท และอีก 90 ล้านบาทสำหรับโครงการมหาวิทยาลัย AI ที่จับมือร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เพื่อร่วมลงทุนทรานส์ฟอร์มให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการผลิตกำลังคนด้าน AI ป้อนอุตสาหกรรม โดยจะลงทุนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

“ในระหว่างที่งบประมาณยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ก็ต้องเตรียมความพร้อมในด้านอื่นรอไว้ก่อน อย่างการคัดเลือกชุมชน เกษตรกร หรือสตาร์ตอัพที่จะมาแมตชิ่งในโครงการ ก็หวังว่าจะไม่กระทบมากนัก”