หมดเวลา “ตั้งรับ” แนะอาเซียนเร่งทรานส์ฟอร์ม

การปรับเปลี่ยนหรือทรานส์ฟอร์มองค์กรเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ แต่จากรายงานวิจัยล่าสุดของ “เอคเซนเชอร์” ในหัวข้อ “Make Your Wise Pivot to the New” ซึ่งได้สำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูง 1,440 ราย ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรมใน 12 ประเทศ ได้พบว่ามีองค์กรธุรกิจเพียง 6% ที่ประสบความสำเร็จจากการปรับตัว และเมื่อเจาะเฉพาะกิจการในอาเซียน พบว่ามีเพียง 38% เท่านั้นที่มีการวางแผน

และปรับเปลี่ยนล่วงหน้าเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 72% แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากิจการในอาเซียนอยู่ในโหมด “ตั้งรับ” มากกว่าจะบริหาร “เชิงรุก” ทั้ง 71% ยังมีรายได้จากธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมกว่า 75% และมีเพียง 29% เท่านั้นที่มีรายได้จากธุรกิจใหม่ ซึ่งก็ยังสร้างรายได้ให้น้อยกว่า 25% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาต่างจากค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีกิจการ 33% ที่มีรายได้จากธุรกิจใหม่มากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด

“นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังชี้ให้เห็นอีกว่า แม้การทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยการทำธุรกิจหลักให้ดีขึ้น และมีการวางแผนเพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ไปด้วย เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำ แต่ “จังหวะ” ที่เลือกทรานส์ฟอร์มคือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ”การลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มเมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบแล้ว กับคนที่ลงทุนล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปต์ที่ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน อย่างหลังจะมีผลประกอบการที่ดีกว่า”

อย่างกรณีของเน็ตฟลิกซ์ที่เดิมธุรกิจหลักคือการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ของคนอื่น แต่ปัจจุบันรายได้ราว 50% มาจากคอนเทนต์ที่เน็ตฟลิกซ์สร้างเอง ก้าวสู่การเป็นคอนเทนต์โปรดิวเซอร์ เป็นการคิดและลงมือทำก่อนที่คู่แข่ง หรือเจ้าของคอนเทนต์จะลุกขึ้นมาสตรีมมิ่งเอง นี่คือจังหวะในการลงทุนที่มองเห็นอนาคต ไม่ใช่รอให้ถูกดิสรัปต์แล้วมารีแอกต์นอกจากนี้ ในขณะที่ทั่วโลกมองว่าเทคโนโลยีคือสิ่งที่สำคัญสุดที่จะทำให้ถูกดิสรัปต์ แต่ในอาเซียนมองว่าคือคู่แข่ง ทั้งยังมีการขยายธุรกิจด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์ข้ามอุตสาหกรรม หรือการมีส่วนร่วมในกลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรมน้อยมากเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าธุรกิจในอาเซียนเพิ่งเริ่มต้นทรานส์ฟอร์มเท่านั้น

แต่สำหรับในประเทศไทยแม้จะเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทรานส์ฟอร์มเช่นเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน แต่ “กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์” ระบุว่า องค์กรในไทยมีความตื่นตัวมากโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ๆ ในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการทรานส์ฟอร์มอย่างรวดเร็วในกิจการขนาดกลางและเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน

เพียงแต่ในส่วนของภาครัฐยังมีการขยับตัวทรานส์ฟอร์มค่อนข้างช้า ซึ่งในการทรานส์ฟอร์มขององค์กรธุรกิจมีหลายส่วนที่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เอื้อต่อการทรานส์ฟอร์ม อาทิ การยืนยันตัวตนทางดิจิทัล การใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

“แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในช่วงที่ธุรกิจมีความเสี่ยงเยอะ แต่ถ้าธุรกิจยึดแต่ core business ไม่ปรับไปสู่สิ่งใหม่ยิ่งแย่ ไม่มีโอกาสในการเติบโต ซึ่งในปีที่ผ่านมาธุรกิจกลุ่ม B2C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) เริ่มเข้าสู่การทรานส์ฟอร์มเยอะขึ้น เพราะเริ่มเข้าใจแล้วว่าการบริหารประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้านั้นเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำอย่างครบวงจรทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน ซึ่งจากสถานะที่เป็นอยู่ขณะนี้เชื่อว่าไม่เกิน 2 ปีธุรกิจที่ยังอยู่แต่ในโหมดตั้งรับอย่างเดียวจะอยู่ไม่ได้แล้ว”