‘ทุ่มไม่อั้น’ ในเวลาที่ใช่ สเต็ป ‘เอไอเอส’ สู่ดิจิทัลเซอร์วิส

ย้ำให้ชัดถึงการสลัดภาพ โมบายโอเปอเรเตอร์สู่ดิจิทัลเซอร์วิส ของ “เอไอเอส” อีกครั้ง ด้วยการตั้ง “หน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่” ซึ่งตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมาได้ “อลิสแตร์ เดวิด จอห์นสตัน” มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

“อลิสแตร์” ระบุว่า หน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่ คือ การแยกส่วนงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับโทรคมนาคมอย่าง โมบาย และเอไอเอส ไฟเบอร์ ออกมา อาทิ เอไอเอสเพลย์ แรบบิทไลน์เพย์ เพย์เมนต์เกตเวย์ ประกันภัย ธุรกิจเกม รวมไปถึงเรื่องของสตาร์ตอัพ

โดยนอกจากจะดูแลในด้านของธุรกิจของหน่วยงานนี้แล้ว “อลิสแตร์” ยังดูในเรื่องของการทรานส์ฟอร์ม เพื่อนำจุดแข็งของโมบายและเอไอเอส ไฟเบอร์ มาต่อยอดด้วย เพื่อจะเสาะหาบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

“โจทย์หลัก คือ ในธุรกิจโมบายในระยะยาว ต้องยอมรับถึงความไม่แน่นอนของรายได้จากฝั่ง voice ที่ลดลงต่อเนื่อง ฉะนั้น เอไอเอสจะต้องพยายามแตกไลน์ออกไป ครีเอตธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งในส่วนของหน่วยงานใหม่จะยังไม่เน้นในการสร้างรายได้ แต่จะเน้นทำธุรกิจที่ดูแลอยู่ให้แข็งแรง สร้างทักษะใหม่ ๆ ทั้งกับคนที่ทำงานและผู้ใช้งาน เพื่อปูทางไปสู่รายได้ใหม่ ๆ เช่น เอไอเอส เพลย์ที่เปิดมาระยะหนึ่งแล้วก็เข้ามาทำให้ทักษะของพนักงานรอบตัวมากขึ้น”

แต่ถ้าเจาะลึกไปในรายธุรกิจ “เกม” คือ ธุรกิจที่เริ่มสร้างรายได้ให้ได้เร็วที่สุด จากซื้อแพ็กเกจดาต้าและแพ็กเกจเสริมต่าง ๆ จากเหล่าเกมเมอร์

ปัจจุบันอีสปอร์ตได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะกีฬา มีการแข่งขันชิงเหรียญรางวัลอย่างเป็นทางการ อาทิ ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 เราเห็นเทรนด์การเติบโตเด่นชัด ทั้งในแง่ผู้เล่นเกมที่แอ็กทีฟในทุกแพลตฟอร์มกว่า 27 ล้านคน มูลค่าตลาดเกม และอีสปอร์ตเมืองไทยมีกว่า 23,000 ล้านบาท โตถึง 16.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 27,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็นเกมบนมือถือและแท็บเลต 71%, เกมบนพีซี 22% และเครื่องเล่นวิดีโอเกม 7%

“จุดเด่นของเกมเมอร์ในเอเชียและในไทย คือ ความนิยมในโมบายเกม แตกต่างจากฝั่งยุโรป และเกมเมอร์ชาวไทยถึง 24% หรือ 16.3 ล้านคน ยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับการเล่นเกม ขณะที่ในเอเชีย-แปซิฟิกมีสัดส่วนที่ 14%”

ขณะที่ในส่วนของเอไอเอสเอง แม้จะไม่สามารถเปิดเผยสัดส่วนรายได้ของเกมที่มีในปัจจุบันได้ แต่ “เกม” คิดเป็น 30% ของรายได้จากธุรกิจคอนเทนต์ทั้งหมด และมีอัตราเติบโตกว่า 30% เทียบปีต่อปี ซึ่งเติบโตสูงกว่าด้านอื่น ในแง่ของแพ็กเก็จโมบายดาต้าเองก็เติบโต 30% เทียบปีต่อปีเช่นกัน

“เป็นธุรกิจที่ยังลงทุนต่อเนื่อง”

อย่างในปีนี้จะมีความร่วมมือกับสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาอีโคซิสเต็มของวงการเกมในไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือ การจัดงาน Thailand Game Expo by AIS eSports ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 และเตรียมจะเป็นสปอนเซอร์การจัดแข่งขันอีสปอร์ตตลอดทั้งปี เพิ่มจาก 20 ทัวร์นาเมนต์ เป็นอย่างต่ำ
30 ทัวร์นาเมนต์

และแม้ว่าในปีนี้จะยังไม่แผนที่จะลงทุนขยับฐานะเป็นผู้ผลิตเกมเอง แต่ “อลิสแตร์” ก็ไม่ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ว่าจะไม่ลงทุนในด้านนี้ เพียง ณ ปัจจุบันยังเน้นการเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ผลิตและเจ้าของเกมต่าง ๆ มากกว่าส่วนในด้านธุรกิจของ “เอไอเอส เพลย์” ที่ต้องแข่งขันดุเดือดในสมรภูมิคอนเทนต์สตรีมมิ่ง แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าทั้งตลาดรวมและเอไอเอสจะยังเติบโตได้อีกมาก

จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการมา 3 ปี มีผู้ใช้ 5 ล้านราย โดยวางจุดยืนของบริการให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมคอนเทนต์ชั้นนำต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียวกัน เน้นการจับมือเป็นพันธมิตรกับเจ้าของคอนเทนต์ต่างประเทศ รวมถึงการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อร่วมกันผลิตคอนเทนต์ของตัวเอง ทั้งยังมุ่งมั่นจะพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ การเพิ่มช่องทางเอไอเอส เพลย์ ในสมาร์ททีวีและแอปเปิลทีวี

ด้านบริการอีเพย์เมนต์และเพย์เมนต์เกตเวย์ ยังคงมีกิจกรรมทางการตลาดต่อเนื่อง ด้วยการจับมือกับพันธมิตรเพื่อขยายช่องทางชำระเงิน กระตุ้นการใช้งานในตลาด อาทิ แรบบิทไลน์เพย์ ที่จับมือกับธนาคารกรุงเทพ ทำโปรโมชั่นใหม่ ๆ อยู่ตลอด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือด

สำหรับในแง่ของรายได้ เกมเป็นอันดับ 1 วิดีโอคอนเทนต์เป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 คือ แรบบิทไลน์เพย์ ที่เอไอเอสถือหุ้นอยู่ 33%

“new business เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย คือ ใช้เงินง่าย ใช้เงินได้เร็ว ซึ่งเอไอเอสมีนโยบายที่ระมัดระวังในการลงทุน แต่ไม่คิดว่าเราช้ากว่าคู่แข่ง เพราะถ้าเราเห็นว่าตลาดไหนเวิร์กก็พร้อมจะทุ่มไม่อั้น อย่างตัวเกม วิดีโอคอนเทนต์ เพย์เมนต์ ซึ่งถ้าเข้าที่เข้าทางก็อาจจะแยกบริษัทออกมาในเร็ว ๆ นี้ เพียงแต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องทำในเวลาที่ใช่”