ค้าปลีกไทยจะอยู่รอดได้ ใครบ้างที่ต้องช่วย

Photographer: Nicky Loh/Bloomberg via Getty Images

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

จากบทความที่แล้ว ผมสรุปถึง framework ใหญ่ที่จะเสนอใช้เพื่อกระตุ้น e-Commerce ของไทย จากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการพาณิชย์ให้ได้ทราบกันคร่าว ๆ ไปแล้ว หลังจากนั้นผมก็มีโอกาสได้พูดคุยกับคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับความได้เปรียบทางการค้าของธุรกิจจากต่างประเทศกับการค้าปลีกออนไลน์

ผมได้เล่าถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และแผนที่กำลังจะเดินไป คณาจารย์ทุกท่านต่างแสดงความเป็นห่วงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวงการค้าปลีกของไทยกับการที่ออนไลน์จะเข้ามาทดแทน และธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในมือของต่างชาติแบบเบ็ดเสร็จอีกด้วย

ทุกท่านจึงต้องการร่วมกันผลักดันให้หลาย ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งภาคการศึกษาให้ได้มีความเข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และร่วมมือกันคิดหาแนวทางที่จะผลักดันธุรกิจของคนไทยให้สามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้แม้ในภาวะที่มีการแข่งขันกันรุนแรงอย่างในขณะนี้

ผมจึงคิดว่าน่าจะเกิดการประชุมเสวนาร่วมกันระหว่างภาคการศึกษากับทางสมาคม e-Commerce ถึงประเด็นดังกล่าวในระยะเวลาอันใกล้นี้อุตสาหกรรมในเมืองไทยที่เห็นได้ชัดว่าถูกต่างชาติควบคุมไปเรียบร้อยแล้วคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และผมเองวิตกว่าธุรกิจค้าปลีกของไทยจะเป็นเหมือนกับธุรกิจท่องเที่ยวในตอนนี้ที่ต่างชาติควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ

บอกได้เลยว่าผู้เล่น travel online agency ไม่ว่าจะเป็น Agoda, Booking.com ฯลฯ ต่างเริ่มขึ้นราคา ขึ้นค่าคอมมิสชั่นกันแล้ว ตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยต้องพึ่งพาเขา เพราะหลาย ๆ โรงแรมใช้พวกแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้เป็นช่องทางหลักในการขายที่พักต่าง ๆ

ดังนั้น เมื่อ travel online agency เหล่านี้รู้ว่าต้องพึ่งพาช่องทางของเขา เขาก็สามารถควบคุมได้แบบทั้งหมด ต้องการขึ้นราคาหรืออื่น ๆ ก็สามารถเพิ่มได้เลย ธุรกิจของเราจึงเริ่มมีความลำบากแล้ว นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากซึ่งธุรกิจค้าปลีกต่อไปจะเป็นในลักษณะนั้น หากเราไม่ทำอะไรบางอย่าง เพราะการที่เราจะเอาแต่ขายของอยู่ในมาร์เก็ตเพลซต่างชาติอย่างเดียว หากเขาอยากขึ้นราคาเราเองก็ปฏิเสธอะไรไม่ได้ ผมมองว่าเมืองไทยต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างกันแล้ว

เท่าที่ติดตามมาตลอดก็เห็นว่าภาครัฐเองก็ตื่นตัวมากขึ้น เช่น กฎหมาย e-Business ที่กำลังจะออกมา ต่อไปบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าในประเทศไทย แม้จะอยู่ที่ต่างประเทศก็ตาม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทก็ต้องมีการหักภาษี VAT กันแล้ว (ซึ่งสุดท้ายภาระต่าง ๆ ก็คงต้องมาตกอยู่ที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นคนไทยอยู่ดี)

ตอนนี้เรียกได้ว่าผมเดินสายผลักดันทุกแนวทางร่วมกับรัฐบาล วุฒิสภา EEC ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ฯลฯ เพื่อทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถอยู่รอดได้ในภาวะการแข่งขันที่เกิดขึ้น และจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้


จึงอยากจะยืนยันว่าบางทีเราไม่ต้องไปก่นด่าใครหรืออะไรมากนัก หากเราต้องการจะช่วยทำอะไรหรืออยากช่วยแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม เราสามารถช่วยและลงมือทำเองได้เลย พุ่งเข้าไปที่ปัญหา คิดหาวิธีการแก้ไขด้วยตัวเองได้เลย มัวแต่มาบ่นมาว่ากันไปมา ไม่มีประโยชน์ครับลงมือทำเลยดีที่สุด