Google Maps ที่ปรึกษาในการเดินทาง

Photo by Thomas Imo/Photothek via Getty Images)

ครบรอบ 15 ปีแล้ว กับการเกิดขึ้นของ Google Maps ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคน ใน 220 ประเทศทั่วโลก “แดน แกลสโกว์” รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ Google Maps เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ในการพัฒนา Google Maps จากนี้คือการจะเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำการเดินทางที่สามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่บอกเส้นทางจากจุด A ไปจุด B เท่านั้น จึงได้มีการปรับโฉมครั้งใหญ่ พร้อมทั้งอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่พัฒนามาจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มการเข้าถึงใน 5 แท็บหลัก ได้แก่ explore (สำรวจ) commute (การเดินทาง) saved (บันทึกไว้) contribute (การมีส่วนร่วมของคุณ) และ updates (อัพเดต)

แล้วยังมี 2 ฟีเจอร์ใหม่คือ ฟีเจอร์สำหรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากปีที่แล้วสามารถบอกถึงความหนาแน่นของรถได้ อาทิ มีพื้นที่พิเศษสำหรับผู้หญิงหรือไม่ และฟีเจอร์ live view เมื่อเปิดโหมดการเดินทางด้วยเท้าบน Google Maps จะผนวกภาพเสมือนจริงจาก street view เข้ากับแมชีนเลิร์นนิ่งและเซ็นเซอร์ของสมาร์ทโฟนทำให้เกิดเป็น live view ที่แสดงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว โดยลูกศรและทิศทางต่าง ๆ จะถูกแสดงผลร่วมกับภาพของจริงผ่านจอโทรศัพท์เพื่อช่วยนำทางไปยังที่หมาย

ขณะที่การพัฒนาบริการสำหรับประเทศไทย “เรียนรู้ข้อมูลผู้ใช้บริการ” คือ หัวใจสำคัญ เหตุเพราะประเทศไทยมีการวางโครงสร้างผังเมือง และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ จากวัฒนธรรมที่หลากหลายและเก่าแก่ ที่สำคัญคือ ผู้คนนิยมใช้ “มอเตอร์ไซค์” จึงได้พัฒนาฟีเจอร์แนะนำเส้นทางเฉพาะให้

ส่วนการอัพเดตข้อมูลแผนที่นั้น นอกจากใช้ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลจากผู้ใช้บริการแล้ว ยังได้ร่วมกับ “กองบังคับการตำรวจจราจร” มาใช้ และมีพันธมิตรอย่าง “แกร็บ” ที่แบ่งปันข้อมูลแผนที่ร่วมกัน ซึ่งถือว่า Google Maps ในประเทศไทยมีการอัพเดตข้อมูลค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองที่ผู้คนอาศัยหนาแน่น

แต่ในประเทศไทยยังคงมีปัญหาบางประการที่ Google Maps ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด เช่น ปัญหาในเรื่องของเวลาในการเดินทางโดยรถโดยสาร หรือรถไฟฟ้า ที่ยังไม่สามารถบ่งบอกเวลาได้อย่างชัดเจน, ปัญหาเรื่องของตรอก ซอย ในประเทศไทย ที่มีค่อนข้างมากและซับซ้อน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น, ปัญหาเรื่องการปักหมุดของสถานที่ที่ผิดพลาด ซึ่งพบค่อนข้างเยอะ เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาได้พยายามแก้ไข ด้วยการ “คาดการณ์” จากเรียนรู้ข้อมูลในอดีต ซึ่งผู้ใช้บริการหรือ user คือส่วนสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้เท่าทันกับสถานการณ์