ปฏิรูปสื่อ-ลงโทษช่องทีวี บทพิสูจน์บรรทัดฐาน “กสทช.”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

ท่ามกลางเหตุสลดใจที่เกิดขึ้นใจกลางเมืองโคราช เมื่อ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่หลายฝ่ายจับตาดูจากนี้ คือ บทบาทของ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการทีวีโดยตรงว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับ “ช่องทีวี” ที่รายงาน “สด” สถานการณ์ที่กระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

เหตุเพราะแม้เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” จะออกคำสั่งไปยังสถานีทุกช่องให้งดการนำเสนอภาพข่าว การรายงานสด ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในเหตุการณ์ ตั้งแต่เวลา 22.10 น. ของวันที่ 8 ก.พ. (หลังสถานการณ์ผ่านไป 5 ชั่วโมง) แต่ก็ยังพบว่ามีบางสถานีไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งที่มีหนังสือแจ้งและการโทรศัพท์แจ้งเตือนแล้ว

เสนอบอร์ดออกมติ “ลงโทษ”

โดยเลขาธิการ กสทช.ระบุว่า ได้ตระหนักถึงความเสียหายจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสถานีโทรทัศน์ในลักษณะดังกล่าว และจะรีบบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อเรียกสถานีทุกช่อง โดยเฉพาะสถานีที่มีการรายงานสดมาให้ข้อมูล ก่อนที่ กสทช.จะลงมติดำเนินการกับช่องทีวี

ขณะเดียวกันจะเสนอหลักการนำเสนอข่าวในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่องค์การอนามัยโลกเคยให้ไว้ รวมถึงแนวทางปฏิบัติของสื่อหลายประเทศ มาประมวลให้บอร์ด กสทช.พิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญแต่สำหรับการปฏิบัติงานของสื่อบางสำนักในเหตุการณ์ล่าสุดนี้

“มีโอกาสเป็นได้อย่างมากที่ กสทช. จะมีคำสั่งลงโทษช่องทีวีที่ฝ่าฝืนคำสั่งด้วยการรายงานสดที่กระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่” นายฐากรกล่าวเนื่องจาก “ไม่ใช่ครั้งแรก” ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ โดยก่อนหน้านี้ก็มีบางสถานีโทรทัศน์ที่รายงานสดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับกุมอาจารย์ของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่ก่อเหตุฆาตกรรมไปจนถึงนาทีที่ผู้ต้องหาฆ่าตัวตาย

วางกรอบปฏิรูปการทำงานสื่อ

“ฐากร” กล่าวว่า เมื่อได้ศึกษาแนววิธีการนำเสนอข่าวเหตุการณ์สะเทือนขวัญในหลายประเทศพบว่า มีการเลิกนำเสนอรูปคนร้ายในสื่อ เลิกการรายงานสดเหตุการณ์ เลิกการนำเสนอคลิปเหตุการณ์แล้ว เพราะผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา และอาชญาวิทยา ได้เตือนว่า จะนำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ ทั้งยังมีผลการศึกษาจำนวนมากยืนยันถึงข้อสันนิษฐานนี้

การนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์ ไม่ควรมีการนำเสนอภาพคนร้าย รายละเอียด แผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คลิปเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่าง ๆ เพราะจะทำให้คนร้ายทราบข้อมูลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ยากขึ้น ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และไม่ควรนำเสนอข่าวถี่จนเกินไป ไม่ควรลงข่าวโดยใช้พาดหัวตัวโต ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่นำเสนอข่าวดัดแปลงให้มีลักษณะน่าตื่นเต้น เร้าใจ ไม่ชี้แจงรายละเอียด ลงลึกในรายละเอียดทุกขั้นตอนว่าฆ่าตัวตายยังไง ไม่ลงรูป หรือลงคลิปมาก

“อย่าให้พื้นที่สื่อกับคนร้าย อย่าขุดคุ้ยเรื่องราวของคนร้ายมานำเสนอ ให้คนสนใจ ตื่นเต้นจนเกินเหตุ เพื่อให้ขายข่าวได้ และอย่าลงการแถลงคำพูด คำสารภาพผิดของคนร้าย ต้องไม่ให้ความสำคัญกับคนร้าย จนคนร้ายกลายเป็นฮีโร่ และก่อให้เกิดปัญหาในสังคมได้”

สื่อมวลชนบ้านเราควรนำมาปรับใช้ คือ การกระทำของคนร้ายในแง่ลบเสมอ และเน้นย้ำถึงความน่าอับอายและขี้ขลาดของการกระทำของคนร้าย อย่าลงข่าวถึงเหตุผล หรือตรรกะ จนละเอียดยิบว่าทำไมคนร้ายลงมือก่อเหตุ เพราะคนร้ายคนต่อ ๆ ไปจะรู้สึกว่า เรื่องราวที่ดู หรืออ่านจากการนำเสนอข่าวคล้ายกับตัวเอง

และอย่านำเสนอข่าวเหตุการณ์เช่นนี้นานไป อย่ามีการนำเสนอคลิปเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ควรนำเสนอข่าวสั้น ๆ กระชับ และอย่านำเสนอข่าวในรูปแบบแอนิเมชั่น หรือนำเสนอเป็นรายงานข่าว จำลองเหตุการณ์ให้ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก จนอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบแต่ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนมุมมองใหม่ ไม่ใช่นำเสนอในแนวที่เสมือนให้ผู้ชมอยู่ในเหตุการณ์อย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงผลจากการนำเสนอข่าวสารในรูปแบบนั้น ๆ ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างด้วย จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากการนำเสนอและรับข้อมูลข่าวสารมากกว่า

ชี้ชะตา กอบกู้หรือตอกย้ำ

ด้าน “สุภิญญา กลางณรงค์” อดีต กสทช. เปิดเผยว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้ กสทช.จะต้องแสดงจุดยืนในการทำงานว่า จะกอบกู้หรือตอกย้ำวิกฤตศรัทธาที่ประชาชนจะมีต่อ กสทช.


“ถือเป็นเคสวัดใจ กสทช.ว่า จะยังทำงานแบบเดิม คือ ดึงเรื่องช้ากว่าจะตัดสิน แล้วจบที่ตักเตือน ต่างจากเรื่องการเมืองที่ตัดสินรวดเร็ว เด็ดขาด รุนแรง ช่วยเอกชนมาเยอะแล้ว ควรจะต้องกำกับดูแลบ้าง”