ตั้งองค์กรอิสระกำกับ ส่องไอเดีย UK รับมือภัยออนไลน์

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรน่า อีกสิ่งหนึ่งที่ระบาดได้รวดเร็วไม่แพ้กัน คือ เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่สร้างความตื่นตระหนก ความเกลียดชัง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้าลงพื้นที่กวาดล้างข่าวปลอม fake news มือเป็นระวิง รัฐบาลในประเทศอื่น ๆ ได้รับมือกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร

“เบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์” สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ศึกษาเรื่องภัยคุกคามออนไลน์ (online harms) กับการกํากับดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต : กรณีศึกษา Online Harms White Paper สหราชอาณาจักร โดยพบว่า เอกสารสมุดปกขาวว่าด้วยภัยคุกคามทางออนไลน์ฉบับนี้ ได้ครอบคลุมการตั้งใจจะกำกับดูแลเนื้อหาที่เป็นภัยคุกคามบนอินเทอร์เน็ต ที่ไม่จำกัดเฉพาะเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย (illegal content) เนื่องจากเห็นว่าการกำกับตนเองของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีพอ รัฐจึงควรมีบทบาทในการกํากับดูแลเนื้อหา

เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตราย ได้กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของสหราชอาณาจักรและประชากรของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่กระทบต่อสุขภาพจิตผู้ใช้งาน การสนับสนุนการก่อการร้าย การเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก

การเผยแพร่วัฒนธรรมแบบแก๊งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง การข่มขู่คุกคามกลั่นแกล้งทางออนไลน์ รวมถึงการเผยแพร่การทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย โดยได้เสนอแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหาเบื้องต้น ครอบคลุมส่วนที่เป็นภัยต่อผู้ใช้งานและภัยต่อความมั่นคงของชาติ (ไม่รวมถึงภัยคุกคามต่อกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ การละเมิดข้อมูล หรือ data breaches และภัยคุกคามจาก dark web) ดังนี้

1.ด้านการกำกับดูแลและผู้กำกับดูแล (regulatory framework and regulator) ได้เสนอให้จัดตั้งองค์กรอิสระ (independent regulator) ซึ่งอาจเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้วหรือจัดตั้งใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่า องค์กรกำกับนั้นจะไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล หรืออํานาจอื่น และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยผู้กำกับต้องใช้หลักความระมัดระวังมาเป็นเกณฑ์

ทั้งต้องศึกษา รวบรวมข้อมูลและตั้งมาตรฐาน (standard) ในการกํากับดูแลขึ้น ในรูปแบบของข้อควรปฏิบัติ (code of practice) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มปฏิบัติตาม และต้องจัดทำรายงานความโปร่งใสและความถูกต้อง (transparency and accountability report) เพื่อให้ทั้งผู้กํากับดูแล และประชาชนคนทั่วไปตรวจสอบได้ที่สำคัญ คือ ต้องมีระบบการร้องเรียนเนื้อหา (report and complain) โดยผู้ใช้งาน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องแจ้งความคืบหน้าของข้อร้องเรียนต่อผู้ร้องเรียนด้วย

2.การบังคับใช้ (enforcement) เสนอให้ผู้กำกับดูแลมีอำนาจลงโทษผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยเบื้องต้นเสนอให้มีโทษตั้งแต่ปรับ ไปจนถึงออกหมายเตือน ซึ่งได้เสนอให้ขยายผลการสั่งปรับไปถึงตัวผู้บริหารอาวุโส (senior management) ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้วย

ทั้งยังเสนอให้ผู้กำกับดูแลมีอำนาจประสานงานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (internet service provider : ISP) ในการบล็อกเนื้อหาบางอย่างที่เข้าข่ายเป็นภัยคุกคามออนไลน์ บล็อกการค้นหา (search results) รวมถึงบล็อกลิงก์การเข้าถึงกิจกรรม

3.ใช้เทคโนโลยีช่วยกำกับดูแล (technology as part of solving the problems) เสนอให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มลงทุนกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล เพื่อให้รับมือกับการดูแลเนื้อหาออนไลน์ที่มีจำนวนมหาศาลได้จริง โดยไม่ต้องใช้พนักงานมากเกินไป ทั้งยังเป็นการดูแลที่มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเกิดได้จากการออกแบบระบบและอัลกอริทึ่มที่ปลอดภัย (safety by design) ที่มาจากมุมมองของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม และสาธารณชนทั้งด้านกฎหมายและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

4.เพิ่มความสามารถให้ผู้ใช้งาน (giving users power) เสนอให้รัฐบาลร่างแผนพัฒนาความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ (online media literacy plan) ที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการด้านบรอดแคสต์ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ และสาธารณชน ซึ่งในแผนนี้จะประกอบด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ มุ่งเน้นให้เนื้อหาครอบคลุมและนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่ผู้ใช้งานวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่