ใช้เทคโนโลยีใกล้ตัว ให้เป็นประโยชน์ในวิกฤตวันนี้

Photo by Amanda Edwards/WireImage

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

หลายคนตื่นตัวกับภัยด้านสุขภาพมากขึ้น ผมเองไม่ค่อยสบายตัวนักหลังไปงานเลี้ยงหนึ่งมา จึงพยายามวิเคราะห์ตนเองในขั้นแรกก่อน โดยลองใช้วิธีการแบบ cloud sourcing ดู

ผมแชร์ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีอาการแบบนี้ ๆ หลาย ๆ คนคิดว่าเราเป็นอย่างไรบ้าง การที่ผมขอความคิดเห็น

จากคนอื่นรอบ ๆ ตัวดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ได้ข้อมูลหลากหลาย ทำให้เห็นว่า data หรือข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามามีความสำคัญมากทีเดียว เพราะทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น

ผมไม่ได้แนะนำว่าต้องไปปักใจเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง จากที่มีแค่ความคิดเห็นของตนเองที่ค้นจากอินเทอร์เน็ต เมื่อมีความเห็นจากคนรอบตัวที่เชื่อถือได้ ยิ่งทำให้ข้อมูลยืนยันได้ดีมากยิ่งขึ้น

ยิ่งเดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ที่ช่วยตรวจเช็กสุขภาพได้ด้วยพวก wearable ต่าง ๆ ในช่วงที่ผมมีอาการไม่ค่อยดีนั้น ผมใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ใส่ติดตัวอย่าง Samsung Watch, Apple Watch, Garmin ฯลฯ ดูข้อมูลย้อนหลัง

เกี่ยวกับเรื่องการเต้นของหัวใจจากอุปกรณ์เหล่านี้ จากที่รู้สึกว่าหัวใจมีจังหวะการเต้นประหลาดแต่เมื่อดูแล้วกลับปรากฏว่าหัวใจก็เต้นปกติดี อุปกรณ์เหล่านี้มีประโยชน์อย่างน้อยที่สุดอาจเทียบข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์ 100% แต่ก็บอกอะไรบางอย่างได้

หรือมีบางคนถามว่า ผมนอนน้อยหรือเปล่า ด้วยความที่ผมใส่อุปกรณ์เหล่านี้นอนด้วยทุกคืน ผมก็ย้อนกลับไปดูอีกว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นนอนน้อยจริงหรือไม่ จะเห็นว่าผมมีข้อมูลยืนยันเรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ตนเอง เพราะเหล่านี้คือ data ล้วน ๆ ครับ เป็น data ที่ผมเริ่มเก็บเองทำให้รู้ว่าผมมีพฤติกรรมการนอนที่เพียงพอเป็นปกติ

นี่คือจุดเด่นของการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ที่ใช้กับร่างกายของเราได้จริง

นอกจากนี้ เรายังกลับไปเช็กเรื่องเวลาโดยดูจาก Google Maps ย้อนกลับดูว่าเราใช้เวลาในงานต่าง ๆ นานเท่าใด ออกมาจากงานเลี้ยงตอนไหน ทั้งวันที่ผ่านมาไปไหนมาบ้าง เดินทางกี่โมงถึงกี่โมง ฯลฯ เพราะ Google Maps เก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ทั้งหมด ดูได้จาก Google Timeline ผมกลับไปดูการใช้เวลาต่าง ๆ ของผม ข้อมูลต่าง ๆ

เหล่านี้ช่วยให้ผมประมวลผลหลาย ๆ อย่างได้เลย อยากให้ทุกท่านกลับมามองตนเองเช่นกัน เชื่อว่าบางท่านมีอุปกรณ์เหล่านี้

อยู่แล้ว คำถามคือเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น หากเรามีอุปกรณ์เหล่านี้และมีข้อมูลบางอย่างของเราอยู่ จะทำให้เรานำมาวิเคราะห์เองได้ และเช่นเดียวกันเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ให้กับแพทย์ที่เราไปปรึกษาได้ เช่น ข้อมูลการนอนหลับ การเต้นของหัวใจ ฯลฯ มันจะง่ายขึ้น เร็วขึ้น และจะช่วยทำให้การวินิจฉัยของแพทย์แม่นยำมากยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยของแพทย์นั้นต้องมี data ในบางครั้งเมื่อถามหาข้อมูลจากเรา เราอาจจำไม่ได้ แต่อุปกรณ์ที่ติดตามตัวเรานี้จะมีข้อมูลต่าง ๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับเราเข้ามาช่วยเสริม เช่น การเดินทางไปที่ไหน อยู่ในที่ใดบ้าง เรากินอะไรไปบ้าง ฯลฯ มองย้อนกลับไปได้ทั้งหมด นี่คือ digital footprint ชั้นดีที่เราสามารถมองย้อนกลับไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงวิเคราะห์สุขภาพของตนเอง เป็นการใช้เทคโนโลยีใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์และใช้ได้ง่าย

จะเห็นว่าหลายคนมีอุปกรณ์อยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร อยากให้ทุกท่านกลับมามองอีกมุมหนึ่งว่าเรามีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว หรือบางท่านไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้เลยแต่ใช้พวกนาฬิกาแพง ๆ แต่คำถามคือมันช่วยเราได้หรือเปล่า

ฉะนั้น ผมมองว่าอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยเราได้มากเลยทีเดียว อย่างคุณพ่อผมท่านอายุมากพอสมควร ผมให้ใช้อุปกรณ์ประเภทนี้เช่นกัน เพราะบางรุ่นแจ้งเตือนได้หากมีการล้มหรือการกระแทกจะมีการส่งข้อมูลแจ้งเตือนมาถึงผมในตอนนั้นเลย ทำให้ผมทราบและติดต่อกลับไปสอบถามอาการได้รวดเร็วทันที

ผมอยากให้คนที่มีอุปกรณ์เหล่านี้ได้ใช้งานให้คุ้มประโยชน์ ใช้ให้ถึงจุดที่ควรจะใช้ เพราะช่วยชีวิตเราได้ ช่วยทำให้เข้าใจสุขภาพตนเองได้ดีมากขึ้นหรือคนที่ไม่มีก็อยากบอกว่ามันช่วยชีวิตเราได้เยอะมาก จากที่เล่ามาทำให้ผมเองเห็นความสำคัญของอุปกรณ์เหล่านี้เยอะขึ้นมากเลยทีเดียวครับ