“ซิสโก้” รับมือดิสรัปต์ ต่อยอดจุดแข็งฝ่าพิษเศรษฐกิจ

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเป็นสิ่งที่องค์กรยักษ์ใหญ่ล้วนตระหนัก รวมถึง “ซิสโก้ ซิสเต็มส์” หนึ่งในยักษ์ไอทีข้ามชาติที่เข้ามาทำตลาดในไทยพักใหญ่ ล่าสุด “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและอินโดจีน ซิสโก้ ระบุว่า ปีนี้อุตสาหกรรมไอทีในไทยต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากในหลายด้าน ประเทศไทยยังคงถูกท้าทายจากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจ อย่าง เอไอ แมชีนเลิร์นนิง คลาวด์ ไอโอที รวมถึง 5G ที่ภาครัฐกำลังจะจัดประมูล แล้วยังมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สงครามการค้า แม้กระทั่งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ

“เอกชนส่วนใหญ่จะวางแผนการลงทุนไว้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ฉะนั้น 2 ไตรมาสแรกของปีน่าจะยังประคองตัวได้ เพราะยังมีเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องตามแผนที่อนุมัติไว้แล้ว รวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจช่วยประคองอยู่ แต่ที่ต้องจับตา คือ ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ว่า ภาคเอกชนจะตัดสินใจลงทุนต่อหรือไม่ แล้วเงินลงทุนตามปีงบประมาณจากภาครัฐจะเริ่มเบิกจ่ายออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะผ่านไปได้”

ส่วนการลงทุนด้านไอทีในองค์กรต่าง ๆ จากเท่าที่ได้พูดคุยกับหลายองค์กร ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการลงทุนปรับปรุงระบบไอทีให้สอดคล้องกับการบังคับใช้ 2 กฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

3×3 กลยุทธ์สำคัญ

“นี่เป็นจังหวะที่ซิสโก้จะรุกหนักใน 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ธุรกิจแอปพลิเคชั่นแพลตฟอร์ม ธุรกิจโซลูชั่นการทำงานร่วมกันในองค์กร โดยเป็นการต่อยอดรายได้จากระบบเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่แข็งแกร่งของซิสโก้”

โดยกลยุทธ์ของซิสโก้ในประเทศไทยที่สำคัญ คือ 3×3 นั่นคือ channel partner, architecture และ customer โดยการให้ความสำคัญกับช่องทางจัดจำหน่าย ทั้งการทรานส์ฟอร์เมชั่นให้พาร์ตเนอร์แข็งแกร่ง การสร้างอีโคซิสเต็มในกลุ่มนักพัฒนา (DevNet, ISV) ปลุกกระแสความต้องการพัฒนา API บนแพลตฟอร์มของซิสโก้ เปลี่ยนโมเดลของพาร์ตเนอร์จาก “ซื้อมาขายไป” ให้เป็น as a service มากขึ้น

ทั้งผลักดันให้เกิดนวัตกรรมผสมผสานหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ สร้างแอปพลิเคชั่นขึ้นมารองรับการใช้งานในอีโคซิสเต็มของซิสโก้ ขณะที่ในฝั่งของลูกค้าเองก็ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้มากขึ้น มีทีมที่ช่วยลูกค้าให้สามารถใช้ประโยชน์จากบริการและโซลูชั่นของซิสโก้ให้คุ้มค่าที่สุด และเริ่มทำโครงการยูสเคสเพื่อนำเสนอตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้มากขึ้น อาทิ เทคโนโลยีด้านการศึกษา เฮลท์แคร์ 5G

เน้น Used Case 5G

“5G ในปีนี้น่าจะยังเป็นปีแห่งการเริ่มต้นลงทุนเพื่อทดลองทดสอบสำหรับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมากกว่า น่าจะยังไม่ได้ปูพรมและลงไปถึงการใช้งานในกลุ่มผู้บริโภค ยังเป็นการค้นหาว่าจะนำ 5G ไปใช้ในธุรกิจอย่างไร กว่าจะเป็นฐานสำคัญมองว่า น่าจะเป็นใน 2-3 ปีข้างหน้า”

ส่วนการทดลองทดสอบ 5G ของซิสโก้ในตอนนี้ ยังมุ่งไปที่ภาคการผลิตและเฮลท์แคร์ อาทิ ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชพัฒนารถฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากปัจจุบัน ด้วยการมีเครื่อง MRI สแกนสมองด้วยความละเอียดสูงอย่างรวดเร็วและส่งผลลัพธ์ที่ได้ให้แพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน แม่นยำ รวดเร็ว เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ตรงจุดตั้งแต่ยังไม่ถึงโรงพยาบาล รวมถึงเตรียมการในการรักษาเมื่อผู้ป่วยมาถึง เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายเป็นปกติได้มากขึ้น จากเดิมที่ผลลัพธ์ในการ MRI ยังมีความละเอียดและคมชัดต่ำ รวมถึงไม่สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

“อุตสาหกรรมที่ตื่นตัวกับ 5G เป็นกลุ่มแรก ๆ น่าจะเป็นภาคการผลิต เฮลท์แคร์ และการศึกษา เพราะศักยภาพของ 5G จะทำให้เกิดโซลูชั่นหรือนวัตกรรมใหม่ที่แตกต่างจาก 4G อย่างชัดเจน”

ขณะที่ซิสโก้คาดว่า ภายในปี 2566 ทั่วโลกจะมีอุปกรณ์ราว 49,000 ล้านชิ้น ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีอย่าง วีอาร์ เออาร์, สตรีมมิ่ง, เอไอ, 5G, ควอนตัมคอมพิวติ้ง, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ จะพัฒนาอย่างก้าวล้ำ

เสาะหาทักษะไอที+ธุรกิจ

แต่สิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศไทย รวมถึงในอีกหลายประเทศทั่วโลก คือ ปัญหาด้านบุคลากร โดยซิสโก้ได้สำรวจผู้บริหารส่วนงานไอทีและธุรกิจกว่า 600 คน พบว่า 93% ประสบปัญหานี้อย่างรุนแรง ทำให้การทรานส์ฟอร์มธุรกิจทำได้ล่าช้า

โดยเฉพาะในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเอไอ ซึ่งขาดแคลนมาก และมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะฝ่ายไอทีในองค์กร ให้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “ผู้รับคำสั่ง” ไปสู่การเป็น “พันธมิตรธุรกิจ” จากการตั้งค่าอุปกรณ์ไปสู่ “การแก้ไขปัญหาธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยี” ที่สำคัญ คือ ต้องมี “ความรู้และไหวพริบด้านธุรกิจ” ควบคู่กันไป

ฉะนั้น ภารกิจสำคัญของผู้บริหารในยุคนี้ คือ การสรรหาพนักงานที่มีทั้งทักษะด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ