ชุลมุนเรียกคืนคลื่น 2600 กสทช. ควัก 6.6 พันล้าน แลก 5G

16 ก.พ. 2563 คือ วันประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G แม้ครั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะนำออกประมูลถึง 4 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz

แต่ย่านคลื่นที่มีผู้แสดงความจำนงขอเข้าร่วมประมูลมากที่สุด คือ คลื่น 2600 MHz โดยมีทั้ง “เอไอเอส” ผ่านทางบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด “ทรู” โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ “แคท” บมจ.กสท โทรคมนาคม

จ่าย “อสมท” 6,685.1 ล้าน

สำหรับคลื่น 2600 MHz ที่ กสทช.นำออกประมูล 190 MHz นั้น กำลังอยู่ในกระบวนการเรียกคืนคลื่นจากผู้ใช้งานอยู่เดิม ได้แก่ กองทัพบก ที่ถือครองอยู่ 14 MHz และ บมจ.อสมท ที่ถือครองอยู่ 146 MHz

โดยล่าสุด ที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อ 12 ก.พ. 2563 มีมติอนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้กับ บมจ.อสมท ผู้ที่ถือครองมากสุด เป็นเงิน 6,685.1 ล้านบาท

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า หลังจากมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินค่าเสียโอกาสจากการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการจ่ายเงินประมูลคลื่น 2600 MHz ของ กสทช.แล้ว บอร์ดจึงเห็นชอบแนวทางในการจ่ายเงินเยียวยาให้ราว 6,685.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 25% ของมูลค่าคลื่น

“แต่ปัญหาคือยังไม่ได้ข้อสรุปว่า การถือครองคลื่นความถี่ของ อสมท เหลือ 15 ปี หรือเท่าใดกันแน่ บอร์ดจึงมีมติให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายไปพิจารณาเรื่องระยะเวลาที่เหลือ และในประเด็นที่ว่า กสทช.จะต้องแบ่งสัดส่วนให้ อสมท กับผู้มีส่วนเสียประโยชน์ หรือให้ อสมท ไปแบ่งเอง”

เปิดที่มาตัวเลขเยียวยา

สำหรับสิทธิ์ในการถือครองคลื่น 2600 MH ของ บมจ.อสมท ที่ได้รับเยียวยาเป็นไปตามธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS กับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด 1 ต.ค. 2553

โดย อสมท ได้ส่วนแบ่งร้อยละ 9 จากรายได้หลังหักค่าเช่าโครงข่าย และบริษัท เพลย์เวิร์ค ได้ส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 91 ซึ่งค่าเช่าโครงข่ายคิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้รวมทั้งหมด

ก่อนนี้ บมจ.อสมท ได้มีการประเมินค่าเสียโอกาสจากการนำคลื่นความถี่ไปประกอบธุรกิจ เสนอต่อ กสทช. เป็นมูลค่า 50,480 ล้านบาท

สำนักงาน กสทช.จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยให้หลักการคำนวณมูลค่าการเสียโอกาสทางธุรกิจแบบเดียวกันคือ ใช้แบบจำลองการคิดลดกระแสเงินสด (discounted cash flow model) ซึ่งลดทอนด้วยต้นทุนเงินทุน (weighted average cost of capital : WACC) ในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของโครงการ

ผลการศึกษาปรากฏว่า ตัวเลขมูลค่าการเสียโอกาสทางธุรกิจแตกต่างกันอย่างมาก มีมูลค่าตั้งแต่ขาดทุน 133 ล้านบาท ไปจนถึงมีกำไร 3,023 ล้านบาท

ที่ประชุม กสทช. เมื่อ 29 ม.ค. 2563 ได้มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเพิ่มเติม

มูลค่าปัจจุบัน 1.2 หมื่นล้าน

สำหรับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า เมื่อพิจารณามูลค่าเงินปัจจุบันของโครงการ จะอยู่ที่ 12,707.18 ล้านบาท

โดยหากประเมินจากสมมุติฐานที่โครงการไปได้ดีที่สุด จะมีอัตราค่าบริการรายเดือน 200 บาท จำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 20% ของพื้นฐาน (พื้นฐาน คือ 244,162-519,495 คน)

ทั้งยังมีความเห็นให้จ่ายค่าตอบแทนแก่บริษัทเพียงครั้งเดียว แต่ในกรณีที่ กสทช.มีความประสงค์จะแบ่งจ่ายให้สอดคล้องกับงวดการชำระเงินประมูล อาจดำเนินการได้โดยกำหนดผลตอบแทนเพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสเท่ากับต้นทุนเงินทุน (WACC) ของบริษัทที่ 12.33% เนื่องจากบริษัทเสียโอกาสนำเงินก้อนทั้งจำนวนไปลงทุนทำธุรกิจ

ดังนั้น กสทช.ต้องชดเชยด้วยการจ่ายเงินที่บวกด้วยผลตอบแทน 12.33% ให้แก่ อสมท ซึ่งในกรณีที่เลือกสมมุติฐานว่า ทำธุรกิจได้ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด กสทช.จะต้องแบ่งจ่ายในงวดแรก 302.3 ล้านบาท ก่อนจะจ่ายงวดต่อไปในปีที่ 5 เป็นเงิน 1,063.8 ล้านบาท และงวดปีที่ 6 ถึง 10 อีกปีละ 1,063.8 ล้านบาท

2600 MHz วุ่นตลอด

การเรียกคืนคลื่น 2600 MHz เป็นประเด็นที่ กสทช.ได้พยายามดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อ 3 ก.พ. 2557 มีมติไม่อนุญาตให้ อสมท นำเข้าอุปกรณ์เพื่อการทดลองและทดสอบสำหรับให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก บนคลื่นความถี่ MMDS ด้วยเทคโนโลยี BWA เนื่องจากตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ได้กำหนดให้คลื่น 2600 MHz ใช้ในกิจการโทรคมนาคม

10 ก.พ. 2557 ที่ประชุมบอร์ด กสท. มีมติให้ สัญญาที่ บมจ.อสมท ให้บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS เพื่อให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) เป็นการให้บริการโทรทัศน์ประเภทอื่นนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม จึงเป็นการประกอบกิจการโทรทัศน์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามกฎหมาย ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ 1 ก.ย. 2558 ที่ประชุมบอร์ด กสทช. “เสียงข้างมาก” ได้มีมติ “ยกเลิก” มติของที่ประชุมบอร์ด กสท. เมื่อ 3 ก.พ. 2558 ที่ให้สัญญาระหว่าง อสมท กับเพลย์เวิร์ค ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากได้รับทราบรายงานผลการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรทัศน์ของ อสมท

ขณะที่ “เสียงข้างน้อย” อย่าง พ.อ.นที ศุกลรัตน์, สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ไม่เห็นด้วยกับการลงมติดังกล่าว และขอสงวนความเห็นแนบท้ายบันทึกการประชุม

แต่กระทั่งปัจจุบัน อสมท ก็ยังไม่ได้เปิดให้บริการทีวีบอกรับเป็นสมาชิกบนย่านคลื่นนี้แต่อย่างใด

โดยเลขาธิการ กสทช.ย้ำว่า แม้ อสมท จะยังไม่ได้ลงทุนปรับปรุงคลื่นในย่านนี้

“แต่ถ้าเขาไม่คืนคลื่นมา กสทช.ก็ประมูล 5G ไม่ได้”