ประมูล5G แต่ละค่ายต้องจ่ายเท่าไร-ชำแหละสต็อกคลื่นในมือ

 

ปิดการประมูลคลื่น 5G ที่ “กสทช.” จัดขึ้นตั้งแต่เช้าวันที่ 16 ก.พ. 2563 ไปเรียบร้อย

โดย “กสทช.” ได้เงินประมูลตามเป้าที่ตั้งไว้แสนล้านบาท จากการประมูลไปทั้งสิ้น 48 ใบอนุญาต (เหลือ 1 ใบอนุญาต) ส่งผลให้ได้เงินรายได้เข้ารัฐทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท

และเมื่อแยกมูลค่าคลื่นที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องจ่ายค่าคลื่นจากการประมูลครั้งนี้จะเป็นดังนี้

“เอไอเอส” ผ่านทางบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นเงิน 42,060 ล้านบาท

“ทรู” โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นเงิน 21,449.6 ล้านบาท

“ดีแทค” โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นเงิน 910.4 ล้านบาท

“แคท” บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นเงิน 34,306 ล้านบาท

และ บมจ.ทีโอที เป็นเงิน 1,795 ล้านบาท

ขณะที่ “สต็อกคลื่น” ในมือของแต่ละค่ายนั้น จะพบว่า “เอไอเอส” มีคลื่น 700 MHz และ 900 MHz อย่างละ 10 MHz มีคลื่น 1800 MHz จำนวน 20 MHz และคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz และมีสัญญาเป็นพันธมิตรกับทีโอทีในการใช้คลื่นย่าน 2100 MHz อีก 15 MHz ด้วย

ฟาก “ทรู” มีคลื่นย่าน 700 MHz และ 900 MHz อย่างละ 10 MHz เช่นกันกับเอไอเอส และมีคลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz รวมถึงมีสัญญาเป็นพันธมิตรใช้คลื่น 850 MHz กับ
กสท โทรคมนาคม อีก 15 MHz

ส่วน “ดีแทค” มีคลื่น 700 MHz จำนวน 10 MHz และคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz เช่นกันกับคลื่น 1800 MHz จำนวน 5 MHz และคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz รวมถึงมีสัญญาเป็นพันธมิตรในการใช้คลื่น 2300 MHz อีก 60 MHz กับทีโอที

ขณะที่ “ทีโอที” มีคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz และ 2300 MHz จำนวน 60 MHz และ “แคท” มีคลื่น 850 MHz จำนวน 15 MHz โดยทั้งคู่มีสิทธิ์ในการใช้คลื่นได้ถึงปี 2568