Q&A ซีอีโอ “ดีแทค” เคลียร์ให้ชัดๆ ทำไมประมูลคลื่น 5G น้อย

แม้ว่า “ดีแทค” จะเข้าประมูล 5G ที่ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดขึ้นเมื่อ 16 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา แต่ก็เคาะราคาประมูลไปแค่คลื่นเดียวคือ 26 GHz และแค่ 2 ใบอนุญาต ในราคา 910.4 ล้านบาท ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง “เอไอเอส-ทรู” โหมประมูลตุนคลื่นความถี่กันอย่างเต็มที่จนทำให้วันนี้ “เอไอเอส” มีคลื่นในมือรวม 1420 MHz “ทรู” มี 990 MHz ขณะที่ “ดีแทค” มี 270 MHz  (ไม่นับรวมสิทธิ์ใช้คลื่นตามสัญญาพันธมิตรกับรัฐวิสาหกิจ)

แต่ถึง “ดีแทค” จะประมูลคลื่น 5G น้อย แต่ก็เป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกที่ออกมาแถลงถึงแผนการให้บริการ 5G และทิศทางธุรกิจจากนี้ ซึ่งถือเป็นการตอบข้อซักถามอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ “ชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 ก.พ. นี้  โดย “ชารัด” ได้ตอบชัดๆ ถึงข้อสงสัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

Q : ทำไมดีแทคประมูลคลื่น 5G น้อย

A  : การประมูลเหมือนการแข่งกีฬา  ทุกทีมมีกลยุทธ์ของตัวเอง ดีแทคมีเกมการเล่นของเราเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างจากชาวบ้าน  แต่จะเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงข่ายเพื่อรองรับการให้บริการ 5G ซึ่งเราตอบแทนคนอื่นไม่ได้ว่าทำไมคนอื่นต้องประมูลย่านไหนเท่าไร

แต่ดีแทคเข้าประมูล 26GHz 2 ใบอนุญาต เพราะเป็นคลื่นแบนด์เดียวที่สามารถให้บริการที่แตกต่างจากคลื่นย่านอื่น โดยเป็นคลื่นเดียวที่มีแถบคลื่นกว้างและให้สปีดที่สูงได้ ทั้งยังเป็นมาตรฐาน 5G ในฝั่งยุโรป  รวมถึงเป็นการเติมพอร์ตของดีแทค ที่ก่อนหน้านี้ยังขาดคลื่นย่านความถี่สูง

ส่วนการที่ประมูลแค่ 2 ใบอนุญาต  เพราะเชื่อว่าเพียงพอสำหรับให้บริการในสภาพแวดล้อมของตลาดในปัจจุบัน  และดีแทคเลือกเฉพาะสล็อตคลื่นที่อยู่ในตำแหน่งขวาสุดของแถบคลื่นความถี่  เพราะปัจจุบันมาตรฐาน 5G สำหรับคลื่นความถี่ย่านสูงจะใช้งานบนคลื่นย่าน 26 GHz กับ  28 GHz  ซึ่ง 5G บนคลื่น 28 GHz มีการนำมาใช้จริงแล้วในหลายประเทศ  ทำให้มีอุปกรณ์รองรับจำนวนมาก ขณะที่สล็อตคลื่นขวาสุดที่ดีแทคเลือกนั้น จะเป็นช่วงคลื่นที่สามารถใช้งานได้กับอุปกรณ์ที่รองรับได้ทั้ง 26  และ 28 GHz  ฉะนั้นดีแทคจึงตั้งใจเลือกคลื่นในสล็อตนี้ และยอมจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้มา (ดีแทคจ่ายเพิ่ม 20 ล้านบาทจากราคาปิดประมูลเพื่อเลือกคลื่นสล็อตนี้)

Q : ดีแทคมีคลื่นในมือน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

A  : ดีแทคมีความถี่ทั้งในย่าน ต่ำ กลาง และสูง ซึ่งคลื่นที่มีในมือถือว่าครบถ้วน เพียงพอสำหรับการใช้งานที่สร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า ทั้งในแง่ของความครอบคลุมและสปีดโมบายดาต้าที่รวดเร็ว และเราขอให้คำรับรองกับลูกค้าว่า จะไม่หยุดการอัพสปีดให้ดีขึ้น  โดยในปีนี้จะลงทุนเพิ่มสถานีฐานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งอยู่ใน Family เดียวกับคลื่นย่าน 2600 MHz ที่ กสทช. นำออกประมูล และใช้เทคโนโลยี Massive  MiMo ที่เป็นเทคโนโลยีในยุคถัดไปเช่นเดียวกับ 5G และทำให้สปีดเร็วขึ้นทั่วประเทศ  โดยจะเพิ่มสถานีฐานจาก  17,000 แห่งให้เป็น 20,000 แห่งภายในปีนี้ นี่คือคำสัญญาของเรา

เรายืนยันว่า  จะไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าในการ connectivity ทั้ง 4G และ  5G

Q : ดีแทคจะใช้คลื่นไหนให้บริการ 5G และจะเปิดบริการเมื่อไร

A  : การลงทุนปรับปรุงโครงข่ายในการพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า นี่คือคีย์หลัก ซึ่งเน็ตเวิร์คที่ลงทุนนับจากนี้ จะเป็น 5G Ready ดีแทคจะมี 5G อยู่ในเน็ตเวิร์ค  ส่วนการจะเปิด 5G เมื่อใดขึ้นอยู่กับ ecosystem  เพราะสิ่งที่ลูกค้าทุกวันนี้ต้องการคือ  สปีดดาต้าที่ดี และดีแทคจะพัฒนาเพื่อตตอบสนองทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง ส่วน 5G ก็จะตามมาในอนาคต เพราะ 5G ในฝั่งของคอนซูเมอร์คือ ไฮสปีดดาต้า  ซึ่ง Massive MiMO ก็พร้อมรองรับด้วยสปีดที่มีคุณภาพทันที  แต่ในไตรมาส 2 นี้ก็จะเริ่มเปิดให้บริการ 5G บนคลื่น  26 GHz

Q : เงินลงทุนสำหรับ 5G ในปีนี้

A  : เงินลงทุนปีนี้ยังคงยืนอยู่ที่ตัวเลข 13,000 – 14,000 ล้านบาทเหมือนที่เคยประกาศก่อนหน้านี้

สิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจคือ ความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี  ซึ่งลูกค้าไทยต้องการความสะดวกสบาย  ความต่อเนื่องในประสบการณ์ใช้งาน  การใช้งานวิดีโอคอนเทนต์ที่ใช้แบนวิดท์สูง ซึ่งสองปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาโครงข่าย รองรับการใช้งาน ที่มีการใช้ดาต้าเพิ่ม 35% ส่วนปีนี้คาดว่าจะโตอีก 50%  ซึ่งดีแทคจะไม่หยุดในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า นี่คือ DNA ของดีแทค  ซึ่งสิ่งยืนยันถึงการไม่หยุดพัฒนาโครงข่ายของดีแทค คือ การรับรองจาก  Open Signal ที่ได้สปีดเทสต์แล้วพบว่า  โครงข่ายของดีแทค ดาวน์โหลดได้เร็วที่สุดในไทย

Q : คู่แข่งเปิด 5G ก่อนจะทำให้ลูกค้าไหลออก?

A  : เราหวังว่าลูกค้าจะเข้าใจ ในสิ่งที่ดีแทคสื่อสารออกไปและให้คำสัญญาที่จะไม่หยุดพัฒนาโครงข่ายในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และการเร่งลงทุนโครงข่ายที่ทำให้ลูกค้าใช้งานได้ด้วยสปีดที่รวดเร็ว ทั้งบนคลื่น 2300 MHz และเทคโนโลยี MiMO รวมถึงการปูพรมโครงข่ายบนคลื่น 700 MHz เพื่อให้เกิดความครอบคลุม และจะเปิดให้บริการ 5G บนคลื่น 26 GHz ในไตรมาส 2  เพราะขณะนี้ดีไวซ์ 5G ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่เน็ตเวิร์คที่ดีแทคพัฒนาอยู่ ณ ขณะนี้พร้อมรองรับการใช้งานบนดีไวซ์ต่างๆ ได้ทันที

และนอกจากการลงทุนโครงข่ายแล้ว ในปี 2563 สิ่งที่เราจะทำคือ การพัฒนาและปรับปรุงเพื่อประสบการณลูกค้า   ปรับปรุงองค์กรให้ฟิตพร้อมต่อสู้ในอนาคต โดยจะเน้นย้ำในเรื่องแบรนด์ให้มากขึ้น ในทุกช่องทางที่ลูกค้าสัมผัสได้ และปรับปรุงแพคเก็จให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้า “แต่ละคน” ให้ดีมากขึ้น ด้วยการนำ AI มาใช้วิเคราะห์  ซึ่งในปีที่แล้วดีแทคได้เพิ่มดาต้าไซแอนทิส 25%  ในปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่ม 50% ในส่วนดาต้าไซแอนทิส และ แมชชีนเลิร์นนิ่ง

และยังเตรียมความพร้อมในการจัดสรรบริการใหม่ๆ สำหรับให้บริการลูกค้า ทั้ง IoT Fixed wireless Access &  Mobile Broadband  Private Network สำหรับลูกค้าองค์กร ซึ่งล้วนเป็นบริการ 5G ที่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นๆ