เทคโนโลยีพิชิตฝุ่น สำรวจนวัตกรรมฝีมือคนไทย

เครดิตภาพ : Pixabay โดย Gerd Altmann

ในประเทศไทยสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ในเรื่องของสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ ภาคเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทางสภาวิศวกรร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงเปิดเวทีเสวนา “รวมพลังปัญญา แก้ปัญหาฝุ่นพิษ” เพื่อรวบรวมเทคโนโลยีที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ในมือเพื่อร่วมฝ่าฝุ่นพิษ ณ ปัจจุบันเครื่องกรองฝุ่นตกตะกอน

เครื่องกรองฝุ่นตกตระกอน

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันข้อจำกัดของไทยด้านการผลิตหน้ากากอนามัยที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องมีเครื่องมือและนวัตกรรมที่มาช่วยลดปัญหาในเรื่องนี้ ทาง สวทช.ได้พัฒนา “เครื่องกรองฝุ่นด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต” เพื่อลดปริมาณการเกิดฝุ่นพิษโดยที่ทุกชิ้นส่วนสามารถผลิตได้ภายในไทย ซึ่งข้อดีของการผลิตได้ในประเทศไทยนั้นจะทำให้ราคาการซื้อขายนั้นถูก ทั้งยังช่วยประหยัดพลังงาน และสามารถนำไปติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่ ตึกแมกโนเลีย และโรงเรียนต่าง ๆ

นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ยกตัวอย่าง “ประเทศจีน” ที่ได้สร้างหอฟอกอากาศสูง 80 เมตร โดยใช้แผ่นกรองและใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ผ่านการทำงานพัดลมร้อนเป่าฝุ่น PM 2.5 จึงช่วยทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสร้างความเชื่อมั่นในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยจึงควรนำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้

และที่ผ่านมา สวทช.ได้ร่วมกับบริษัท ยูนิ-ชาร์ม (ประเทศไทย) พัฒนาหน้ากากอนามัยเป็นหน้ากากอนามัยกรองฝุ่น PM 2.5 และช่วยกรองไวรัส อีกทั้งยังพัฒนาเครื่องวัดฝุ่นแบบกระเจิงแสงขนาดจิ๋ว (My Air) ที่พกพาสะดวก มีความแม่นยำสูง และประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ปัจจุบันเตรียมดำเนินการวิจัยและพัฒนา “ลูกบอลดับเพลิง” ขนาด 5-10 กิโลกรัม ที่ใช้ติดตั้งกับโดรนเพื่อทำหน้าที่ในการช่วยดับไฟป่าวิศวะ จุฬาฯสานต่อ Sensor for All

วิศวะจุฬาฯ สานต่อ Sensor For All 

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการสภาวิศวกร กล่าวว่า ความรุนแรงในเรื่องของมลพิษทางอากาศปัจจุบันพบได้ในบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อพูดถึง PM 2.5 นั้นเราจะต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) แหล่งกำเนิด 2) สภาพอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคาดการณ์ไม่ได้ 3) ผังเมือง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและมีมายาวนานแล้ว และ 4) พื้นที่สีเขียว ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ควรจะมีพื้นที่สีเขียว 9 ตร.ซม.ต่อคน แต่กรุงเทพมหานครยังถือว่ามีพื้นที่สีเขียวน้อย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3-4 ตร.ซม.ต่อคน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้พัฒนาโครงการ Sensor for All ที่ช่วยในการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่นทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยโครงการนี้ก่อให้เกิดเครือข่าย และ sandbox เพื่อให้นำไปใช้ได้จริง ครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดโครงการในปีที่ 2 ซึ่งได้ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงเรียนสาธิตมัธยม ในส่วนของ sensor ก็ยังจะเดินหน้าทำต่อ แต่จะเอาในส่วนของ machine learning และ metal oxide sensor มาปรับใช้ เพื่อหวังว่านอกจากจะช่วยในการวัดฝุ่นได้แล้ว ก็ยังจะทำให้สามารถวัดก๊าซได้ด้วย

ป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น

ด้าน รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” ถือเป็นนวัตกรรมตรวจวัดและเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์ที่ สจล.ได้พัฒนา โดยป้ายรถเมล์อัจฉริยะนี้มีความสามารถในการตรวจจับปริมาณฝุ่น ช่วยสั่งการพัดลมโคจรติดเพดานช่วยระบายฝุ่น พร้อมแสดงผลปริมาณฝุ่นและเฉดสีผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ ซึ่งล่าสุด สจล.ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครดำเนินการติดตั้งนวัตกรรมนี้ ในพื้นที่ 9 จุดเสี่ยงที่พบปริมาณฝุ่นสะสมหนาแน่น ได้แก่ บางซื่อ บางเขน บางกะปิ มีนบุรี ดินแดง พระโขนง ภาษีเจริญ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางคอแหลม เพื่อเป็นการบรรเทาฝุ่นและให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลฝุ่นแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวโดยสรุปว่า


“ประเทศไทยยังมีความหวังเพราะมีบุคลากร มีองค์กรที่มีความรู้และความพร้อม ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 นับเป็นเรื่องที่ภาครัฐ เอกชน ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือกันในการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยที่ภาครัฐจะต้องยกระดับปัญหาฝุ่นเป็นภัยพิบัติของประเทศ และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ภาคเอกชนควรให้ความร่วมมือในการแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่น และภาคประชาชนควรตระหนักถึงผลกระทบถึงฝุ่น PM 2.5ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตของตนเอง รวมถึงบุคคลอื่นในสังคมด้วย”