ดราม่า “ข่าว” ชิงเรตติ้ง ผุดไอเดียสร้างคู่มือสื่อตีกรอบออนไลน์

เวทีเสวนา “รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก เmass shooting-สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี-ออนไลน์” เป็นอีกหนึ่งการระดมความเห็นเพื่อถอดบทเรียนจากการนำเสนอข่าวเหตุการณ์กราดยิงโคราช ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก

“กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลของ wisesight ในโซเชียลมีเดีย มีข้อความที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า 1.2 ล้านข้อความต่อวัน มีการแชร์ 66 ล้านครั้งในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง และเมื่อประมวลผลจากแฮชแท็กฮิต แม้น้อยสุดก็มีเป็นหลักหมื่นข้อความ โดยเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับแรกมาจากสื่อกระแสหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ

“ถ้าเทียบกับช่วงการเลือกตั้ง พบว่าข้อความเหตุกราดยิงโคราชมีจำนวนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของข้อความเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก”

สร้างศูนย์ Data Resources

“ระวี ตะวันธรงค์” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ขณะนี้สื่อออนไลน์กลายเป็นกระแสหลัก จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งยังมีถึง 60% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ติดตามสื่อดั้งเดิมผ่านช่องทางออนไลน์ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะกำกับดูแลอย่างไร

แต่เชื่อว่าภายหลัง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ พ.ค.นี้ จะทำให้เกิดการคัดกรองข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้หากนำคลิปที่สามารถระบุตัวตนของผู้อื่นมาเผยแพร่

ด้าน “เขมทัตต์ พลเดช” นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า สมาชิกของสมาพันธ์ซึ่งมีกว่า 100 ราย ทั้งสถานีโทรทัศน์ และผู้ผลิตรายการ มีแนวคิดจะใช้บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ด้วยการเน้นย้ำเรื่อง “กฎบัตร” วินัยของสื่อที่ต้องปฏิบัติอย่างชัดเจน การผลักดันโมเดล “ชัวร์ก่อนแชร์” เพื่อร่วมกันให้ความรู้ในการรับข่าวสาร และให้รัฐช่วยเรื่อง data resources จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข่าวสารเพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน

เสริมจิตวิทยาสร้างคู่มือ

“ไตรลุจน์ นวะมะรัตน” นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า ปัญหาของเรื่องนี้คือการนำเสนอเนื้อหาที่ออกไปในทางลบ และส่งผลต่อสังคมประเทศชาติพอสมควร เนื้อหานั้นมาจากการทำสงครามกันของสื่อต่าง ๆ เพื่อแข่งขันแย่งชิงผู้ชมและผู้ฟัง

“เนื้อหากลายเป็นอาวุธ เพราะถ้ามีเนื้อหาเยอะกว่าและน่าสนใจกว่าก็จะทำให้ผู้คนให้ความสนใจมากกว่า แต่จากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าสิ่งสำคัญคือสื่อควรมองถึงจรรยาบรรณและคุณภาพของตนเองด้วย”

ขณะที่ “ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ต้องให้สื่อทำงานด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องจิตวิทยาและความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเดิมมักจะมองแค่ต้องใช้กับรายการเด็ก แต่ไม่ทันคิดถึงการนำมาใช้กับเหตุการณ์ความรุนแรง

“ถ้าสื่อเข้าใจตั้งแต่ต้นทาง ก็จะทำให้มีวิธีคิดแตกต่างจากเดิม รู้ว่า ณ เวลานี้ต้องนำเสนอเรื่องอะไร หยุดนำเรื่องอะไร ซึ่งอาจจะต้องทำชุดคู่มือให้นักข่าว เพราะในอนาคตอาจจะต้องเจอเหตุเกี่ยวกับความรุนแรงอีก ซึ่งหากทำได้ภาระการจัดการของภาครัฐจะลดลงเรื่อย ๆ ไม่ต้องมาลงโทษตามหลัง”

ที่สำคัญคือต้องสร้างความตระหนักในสังคม ว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นสื่อหรือไม่ หากนำข้อมูลมาเผยแพร่ต้องมีความรับผิดชอบ”

ทบทวนแก้ปัญหาระยะยาว

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การที่สื่อถูกตีตราว่าไร้จรรยาบรรณเป็นเพราะระบบการแข่งขันที่ต้องแข่งกันแย่งคนดู แย่งเรตติ้ง จนเกิดเป็นการนำเสนอ “ดราม่า” อย่างการทำข่าวฆ่าหั่นศพแล้วต้องไปทำแอนิเมชั่นให้ดูว่า ฆ่าอย่างไร ซ่อนศพอย่างไร หรือไปสัมภาษณ์ซักไซ้ญาติของผู้สูญเสีย

“คุณไปดูเขาร้องไห้โหยหวนแล้วก็ทำหน้าเศร้าไปด้วย แล้วก็ถามว่ารู้สึกยังไง คนตายทั้งคนจะไปถามอย่างนั้นทำไม มันเป็นดราม่าที่เกินกว่าข่าว และกระทบต่อสังคม จึงอาจจะต้องทบทวนและมองภาพในระยะยาวว่าจะปล่อยให้ทีวีแข่งกันในทุนนิยมแบบนี้ต่อไป หรือจะหาทางอื่นที่จะสนับสนุนให้เกิดรายการดี ๆ”

ขณะที่อำนาจของ กสทช.ก็กำกับดูแลสื่อบนจอโทรทัศน์ แต่ไม่มีอำนาจในการจัดการกับสื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางให้เกิดการส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติ ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็ยังกำกับดูแลได้เพียงพอส่วนนี้เท่านั้น

ลงทะเบียนสื่อออนไลน์

ด้าน “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่ควรมี คือ การมีผู้บัญชาการด้านการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารมาจากศูนย์กลางด้วยภาพและเนื้อหาที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน

“วันนี้มีสิ่งที่ยังไม่มีคนรับผิดชอบ คือคนที่ไม่ได้เป็นสื่อ มีคนติดตามและลงทะเบียนออนไลน์กับแพลตฟอร์มเอกชนที่มีการลงข่าวที่อาจจะจริงหรือเท็จ มีคนแชร์ออกไป จึงโทษสื่ออย่างเดียวไม่ได้ และยังไม่มีประเทศไหนสามารถออกกฎหมายบังคับให้สื่อที่นำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียลงทะเบียนได้ ซึ่งไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวในโลก ประเทศไทยไม่มีทางทำได้ในวันนี้ แต่เรามีความตระหนักและตื่นรู้ว่าจะทำอย่างไรให้สังคมนี้อยู่ต่อไปได้ ซึ่งไม่ได้มีความตั้งใจจะลิดรอนสิทธิใคร แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องสร้างเกณฑ์ เราต้องทำ หากต้องแก้กฎหมาย ต้องไม่เป็นกฎหมายที่มาจากภาครัฐ แต่ต้องเป็นความเห็นมาจากทุกคน”