ทีโอทีลุย 5G เฟสแรก “แคท” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน

รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที

ทีโอที-แคท เดินหน้าลงทุน 5G คู่ขนานควบรวมเป็น NT “ทีโอที” ลุยเฟสแรกฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา โซนกรุงเทพฯ ตาม MOU ม.มหิดล รับ Mobile Stroke Unit พร้อมกระตุ้นตลาด ขณะที่แคทเตรียม 2 หมื่นล้าน วางโครงข่าย 5G ปั้นโมเดลอินฟราแชริ่ง เติมพอร์ตรายได้ธุรกิจโมบาย

นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการลงทุนเพื่อให้บริการ 5G ของทีโอที กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ด เพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจน คุ้มค่ากับการลงทุนที่สุด ซึ่งเบื้องต้นตั้งเป้าจะนำไปใช้เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา

ด้าน นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที กล่าวเสริมว่า การลงทุน 5G บนคลื่น 26 GHz ที่บริษัทประมูลได้มา 4 ใบอนุญาตนั้น เฟสแรกจะเป็นการติดตั้งโครงข่ายตามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อรองรับการสื่อสารของรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Mobile Stroke Unit) ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรสาคร รวมถึงในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด

“โครงข่าย 5G ของทีโอที จะเป็นการติดตั้งเพื่อใช้งานในลักษณะของ B2B คือ ใช้กับภาคองค์กร ยังไม่ได้นำมาใช้เพื่อให้บริการกับผู้บริโภคทั่วไปโดยตรง เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ แต่ปีนี้ทีโอทีก็จะรุกหนักในธุรกิจโมบาย ผ่านบริการ 4G ที่เป็นความร่วมมือกับดีแทค และเอไอเอส ซึ่งทั้งคู่มีแผนจะปูพรมขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมมากขึ้นปีนี้จึงตั้งเป้าว่าจะเพิ่มลูกค้าของบริการ “ทีโอที โมบาย” ให้เป็น 1 ล้านรายภายในสิ้นปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 2 แสนราย โดยเน้นการให้บริการแบบคอนเวอร์เจนซ์ รวมทั้งฟิกซ์ไลน์ ฟิกซ์บรอดแบนด์ และโมบาย ไว้ด้วยกัน”

ส่วนเงินลงทุนโครงข่ายทั้งหมดจะเป็นเท่าใดนั้น ต้องรอให้บอร์ดมีมติอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรของแคท เพื่อวางแผนการลงทุนโครงข่ายบนคลื่น 700 MHz ที่แคทประมูลได้มา 10 MHz โดยคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนจะเสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาเพื่อส่งต่อให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติการลงทุนต่อไปเนื่องจากคลื่นที่แคทได้มา จะใช้งานได้ในช่วง เม.ย.ปีหน้า จึงยังมีเวลากำหนดรายละเอียดแผนให้รอบคอบ ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จะเป็นการลงทุนด้วยเทคโนโลยี 5G ทั้งหมด โดยจะมีทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เสา เน็ตเวิร์ก ที่สามารถเปิดให้โอเปอเรเตอร์รายคลื่นเข้ามาเช่าใช้ร่วมกันได้ กับส่วนที่แคทจะเป็นผู้ให้บริการเอง รวมถึงเปิดให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นมาเช่าใช้คาพาซิตี้ในรูปแบบของ MVNO

ขณะที่วงเงินลงทุนเบื้องต้นจะไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากคลื่นย่าน 700 MHz มีข้อได้เปรียบด้านความครอบคลุม จึงทำให้ประหยัดต้นทุนในการวางโครงข่ายกว่าคลื่น 5G ในย่านอื่นที่ กสทช.นำออกประมูล


โดยการลงทุนนี้จะเดินหน้าไปคู่ขนานกับการควบรวม “ทีโอที-แคท” เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ตามมติ ครม. ซึ่งยังมีอีกหลายกระบวนการกว่าที่จะรวมเป็นบริษัทเดียวกันได้