สตาร์ตอัพในสายตา VC ฐานผู้ใช้แกร่ง-ไอเดียยังต้องปรับ

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทถึงพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือที่เรียกว่า “ยูนิคอร์น” แต่ก็ยังมีเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนและกองทุนต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทยอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Techsauce ระบุว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัพไทยเฉพาะที่เปิดเผยสูงถึง 97 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าปี 2561 ที่มีราว 60 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ณิชาภัท อาร์ค” ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของ OpenSpace Ventures กองทุนขนาด 7 พันล้านบาท จากสิงคโปร์ ที่ลงทุนแล้วใน 27 สตาร์ตอัพทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึง Go-Jek สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย และล่าสุดเพิ่งร่วมลงทุนใน “ฟินโนมีน่า” เทคสตาร์ตอัพของไทยได้ระบุว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เงินลงทุนจากกองทุนจากต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากอีโคซิสเต็มของสตาร์ตอัพไทยได้ถึงจุดที่กลั่นกรองคนที่ไม่เก่งออกไปจากระบบแล้ว สตาร์ตอัพที่อยู่รอดจนถึงวันนี้ได้มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนแข็งแกร่ง ทำให้ทีมและโมเดลธุรกิจพร้อมจะเติบโตได้

ฐานผู้ใช้ในมือเอื้อต่อยอดธุรกิจ

“ในปีก่อน ๆ อาจจะเห็นว่า เงินลงทุนในสตาร์ตอัพไทยมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะอีโคซิสเต็มของสตาร์ตอัพไทยเริ่มช้ากว่าในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ในช่วงที่ผ่านมาจึงยังไม่ได้มีสตาร์ตอัพที่เติบโตได้ดี แต่ปีนี้เชื่อว่าเป็นจังหวะที่จะได้เห็นสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพแข็งแรงก้าวสู่การระดมทุนในระดับซีรีส์ A กับ B ได้มากขึ้น”

โดยในสายตาของกองทุนต่างชาติมองว่า สตาร์ตอัพไทยจะมีข้อได้เปรียบที่แข็งแกร่งในด้านฟู้ดเทค เฮลท์เทค แทรเวลเทค

ที่สำคัญ คือ ฐานผู้ใช้ชาวไทยที่แต่ละสตาร์ตอัพมีในมือ เนื่องจากผู้ใช้งานชาวไทยมีพฤติกรรมที่ใช้อินเทอร์เน็ต ใช้โซเชียลมีเดียสูงมาก ทำให้ต่อยอดบริการใหม่ ๆ ได้ง่าย สามารถสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการใหม่ ๆได้อย่างรวดเร็ว

แต่จุดอ่อนที่อยากให้ปรับปรุง คือ “แนวคิด” ในการทำธุรกิจที่กระหายจะสเกลอัพให้ได้ และอยากจะลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สตาร์ตอัพไทยที่ผ่านมาเติบโตได้ช้า

“การไม่ได้ตั้งเป้าจะขยายตลาดไปต่างประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โตช้า แต่จริง ๆ ตลาดไทยเองก็มีศักยภาพที่จะทำให้สตาร์ตอัพเติบโตได้ แต่จะต้องค้นหาให้เจอว่าตลาดนั้นอยู่ตรงไหน อย่างฟินโนมีน่า ที่เป็นฟินเทคก็โฟกัสเฉพาะตลาดไทย และตั้งเป้าปี 2566 มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฟังดูเหมือนเยอะ แต่สำหรับตลาด wealth management ในไทย แค่นี้น้อยมาก ฉะนั้นไม่ไปทำตลาดต่างประเทศก็ได้ หรือทำตลาดในไทยให้แข็งแรงก่อนแล้วค่อยขยายไปต่างประเทศ ก็สามารถสร้างความน่าสนใจให้กับ VC ได้”

ส่วนอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กองทุน “ลังเล” ที่จะเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทย คือ กระบวนการทางกฎหมายไทย ที่มีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก หากกองทุนหรือ VC ต่าง ๆ จะเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพที่จดทะเบียนบริษัทในไทย ต่างกับที่สิงคโปร์ หรือประเทศอื่นที่จะยืดหยุ่นได้มากกว่า รวมถึงยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค อาทิ การให้หุ้นแก่พนักงาน (ESOP : employee stock option program), capital gain tax ที่อยู่ในระดับที่ไม่ค่อยดึงดูดนักลงทุน

เงินมี แต่ยังไม่เข้าตา

ด้าน “ธนพงษ์ ณ ระนอง” นายกสมาคม Thai Venture Capital Association (TVCA) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (ในเครือกสิกรไทย) กล่าวว่า ปีนี้ยังมีเงินทุนจากกองทุนต่าง ๆ พร้อมจะลงทุนในสตาร์ตอัพอีกมาก โดยเฉพาะสำหรับการระดมทุนในระดับซีรีส์ A และ B

“แต่ปัญหา คือ ยังไม่ค่อยมีใครเข้าตา”อย่างบีคอน เวนเจอร์ แคปิทัลเอง ก็มีเงินกองทุนก้อนใหญ่รวม 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่พร้อมจะเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพ โดยเฉพาะฟินเทคที่สามารถเข้าไปต่อยอดกับธุรกิจของกสิกรไทยได้ และที่เป็นแพลตฟอร์มซึ่งมีฐานลูกค้าใหญ่มากพอที่จะเป็นช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้

สำหรับกลุ่มสตาร์ตอัพที่อยู่มานาน ตอนนี้ก็เริ่มเห็นการพัฒนาปรับโมเดลธุรกิจให้อยู่รอดได้ เพราะตอนนี้ถ้ายังทำแบบ B2C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) ก็จะอยู่ยาก เพราะคู่แข่งเยะ แม้แต่ corporate ที่แข็งแรงก็ลงมาทำเอง สตาร์ตอัพจะไปแข่งด้วยก็ยาก และทั่วโลกเริ่มเห็นว่า

สตาร์ตอัพแบบ B2B (ธุรกิจสู่ธุรกิจ) ไปได้ดีกว่า ฉะนั้นสตาร์ตอัพควรจะไปในทางนี้ และใช้การจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ หรือเข้าไปซัพพอร์ต corporate มากกว่าจะเป็นคู่แข่ง

ส่วนสตาร์ตอัพหน้าใหม่ ๆ จะค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีเงินสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นน้อย และไอเดียก็ยังไม่เห็นที่ใหม่จริง ๆ

WeWork เอฟเฟ็กต์

ขณะที่ในสายตาของนักลงทุน ตอนนี้ “ไอเดียใหม่” จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และต้องมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมี “ราคา” ของการเข้าร่วมลงทุนที่เหมาะสม เพราะนักลงทุนทั่วโลกได้บทเรียนจากกรณี WeWork สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นของสหรัฐ ที่ก่อนหน้านี้ถือเป็นดาวรุ่งสามารถระดมทุนได้มหาศาล แต่สุดท้ายกลับพบว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทไม่ได้เป็นอย่างที่นักลงทุนคิดกัน

“เท่าที่ดู ๆ ตอนนี้ยังมีสตาร์ตอัพหลายรายที่ตั้งราคาการระดมทุนแพงกว่าความเป็นจริง จึงยังไม่ดึงดูดการลงทุน”

ในแง่ของนักลงทุนการจะสเกลอัพไปต่างประเทศได้หรือไม่นั้น ยังไม่ใช่ปัจจัยหลัก ที่เน้นคือโมเดลธุรกิจที่ต้องเติบโตได้ดี แต่ถ้าในฝั่งของสตาร์ตอัพที่คิดจะเป็นยูนิคอร์น ก็จำเป็นจะต้องขยายตลาดไปต่างประเทศให้ได้ เพื่อดึงดูดเงินจากนักลงทุนและกองทุนต่างประเทศ