NIA ชูบทบาทสตรียุคใหม่ก้าวเป็นผู้นำนวัตกรรม

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในหัวข้อ ‘The Rise of Female Startup and Innovators’

โดย “ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง” รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA  เปิดเผยว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำในด้านต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การขับเคลื่อนสังคม รวมทั้งการทำงานด้านการเมืองการปกครอง เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ก็ได้มีการผลักดันวิสัยทัศน์และสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงสามารถแสดงออกถึงศักยภาพของตนเองอย่างเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ จนทำให้ปัจจุบัน มีสตรีที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้ถึงสังคมที่มีความเปิดกว้างและเท่าเทียม

ขณะที่สายงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ถือเป็นสายงานหนึ่งที่นิยมในผู้หญิงมากขึ้น จะเห็นได้ตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัยที่มีผู้หญิงเริ่มเข้าเรียนและจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ทั้งยังมีความสนใจในการเข้าทำงานในบริษัทด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการผันตัวเป็นสตาร์ตอัพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากผลการสำรวจของเว็บไซต์ Booking.com บริษัทอีคอมเมิร์ซด้านการเดินทางและผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เปิดเผยว่า ผู้หญิงหลายคน ระบุว่า การได้ทำงานด้านเทคโนโลยีเป็นอาชีพในอุดมคติ โดยผู้หญิงทั่วโลกกว่า  4 ใน 5 คน ผู้หญิงกว่าร้อยละ 84 ให้คำนิยามของอาชีพในอุดมคติว่า ต้องเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจ กว่าร้อยละ 83 กล่าวว่าเป็นงานที่ตรงตามความสามารถ และกว่าร้อยละ 81 เชื่อว่าเป็นงานที่สามารถเลือกเส้นทางได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น โอกาสในการประสบความสำเร็จที่มีมากกว่าอาชีพทั่วไป และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีทางรอด สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ดี สังคมและองค์กรถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะต้องส่งเสริมคือการเปิดเวทีให้ผู้หญิงได้แสดงออกถึงศักยภาพและความสามารถที่ซ่อนอยู่ เช่น การจัดเวทีแข่งขันสตาร์ตอัพ การก่อตั้งกองทุนสำหรับผู้หญิงที่มีความตั้งใจเข้าสู่วงการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งการเผยแพร่คอนเทนต์ และการประชาสัมพันธ์ผู้หญิงต้นแบบ (Role Model) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเข้าสู่สายงานดังกล่าว พร้อมลดการจำกัดความว่าผู้หญิงเหมาะสมกับอาชีพแอร์โฮสเตส พยาบาล ครู แม่บ้านเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังควรมีพี่เลี้ยง หรือครูฝึก (Mentor) ที่สามารถช่วยแนะนำว่าศักยภาพของผู้หญิงแต่ละคนคืออะไร สิ่งใดต้องลด – เพิ่ม  ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ประเทศไทย และในระดับโลกมีผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นผู้หญิงมากกว่าเดิม

ด้าน “ธีรีสา มัทวพันธุ์” รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร NIA กล่าวว่า  หน่วยงานและองค์กรในแวดวงเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพ สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เมื่อมีผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำงาน เพราะผู้หญิงค่อนข้างมีพื้นฐานเรื่องการเข้าสังคมมากกว่าผู้ชาย มีการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การทำงานในแต่ละหน่วยงานและองค์กรนั้น ก็ยังจำเป็นจะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชาย อย่างละเท่าๆ กัน จึงส่งผลให้การทำงานลงตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแต่ละเพศย่อมมีความโดดเด่น มีความสามารถเฉพาะ ที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากันและขับเคลื่อนหน่วยงานและองค์กรนั้นต่อไปได้

นอกจากนี้ภายในงานยังเปิดเวที ในหัวข้อ ‘The Rise of Female Startup and Innovators’ โดยมี ภรณี วัฒนโชติ ผู้ร่วมก่อตั้ง FINGAS แพลตฟอร์มแก๊สเดลิเวอรี่รายแรกของไทย อัมภาพัตร ฉมารัตน์ Co-Founder แอปพลิเคชัน Kids up ที่ช่วยแก้ปัญหาด้านการจราจรหน้าโรงเรียนต่างๆ และ ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ออกแบบนวัตกรรมกระบวนการแปลงเศษอาหารเป็นฟาร์มผักกลางเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์