เลิกคิดเองทำแทนทำให้ “ดีป้า” ฉีกวิถี “ส่งเสริม” แบบภาครัฐ

สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล : ดีป้า” ที่มีภารกิจการทำงานกว้างขวาง ตั้งแต่การสร้างคน สร้างสตาร์ตอัพ สร้างนวัตกรรม ไปจนถึงสร้างสมาร์ทซิตี้และดิจิทัลวัลเลย์ “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดมุมมองผู้อำนวยการใหญ่ “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” เกี่ยวกับภารกิจเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาและเป้าหมายในอนาคต

Q : งานสำคัญ 3 ปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนระบบการส่งเสริม การสนับสนุนแบบให้ฟรีให้เปล่า-เน้นอบรม มาเป็นการทำงานร่วมกับเอกชน แม้แต่การพัฒนาคนก็ใช้วิธีแมตชิ่งฟันด์ คือคุณต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่ออนาคตของคุณเองด้วย แม้กระทั่งเด็กนักเรียนหรือมหาวิทยาลัย จะไม่มีการให้แบบฟรี ๆ หรือมารับเงินแล้วจบ ไม่ใช่ให้ภาครัฐคิดเองทำแทนทำให้ แต่ให้ทุกคนที่เป็นผู้รับ ต้องเป็นคนคิดคนทำและร่วมทำ โดยดีป้าเป็นผู้สนับสนุน

อีกเรื่องการคิกออฟโครงการที่วางโพซิชั่นประเทศ อย่างไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์ สมาร์ทซิตี้ ที่ทำให้วงการนักลงทุนเห็นว่า ประเทศไทยมีโพซิชั่นเรื่องเอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที ถือว่าทำได้เร็วกว่าแผนงาน จากที่ไม่เคยมีงบฯ ต้องดิ้นรนหาจากตรงนั้นตรงนี้มาใช้

เรื่องสุดท้ายคือ การจัดตั้งรูปแบบของสถาบันที่จะรองรับอนาคตของประเทศ ทั้งสถาบันไอโอที บิ๊กดาต้าสตาร์ตอัพ ซึ่งต้องทำงานเปรียบเสมือน 3 เหลี่ยมที่บิ๊กดาต้าจะป้อนข้อมูลไปให้สตาร์ตอัพเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ประเทศหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วสถาบันไอโอทีเป็นคนไปแสวงหาเทคโนโลยีใหม่มาแมตชิ่งกับสตาร์ตอัพ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ถ้าการหมุนเวียนของทั้ง 3 เป็นไปได้ก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

Q : ปักธงบิ๊กดาต้าใน 1 ปี

สถาบันบิ๊กดาต้าเพิ่งตั้งมาได้ 6 เดือน มีทีม 30-40 คนที่เป็นจุดเริ่มจัดตั้ง ซึ่งก็มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐให้เข้าไปช่วยวาง architecture เป็นช่วงที่แต่ละหน่วยงานเข้าใจและกำลังหาทางใช้ประโยชน์จากดาต้าให้มากขึ้น จากนี้ก็จะโฟกัสไปในกลุ่มข้อมูลการเกษตร การท่องเที่ยวที่ไม่ใช่เฉพาะโรงแรมที่พักร้านอาหาร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนกลางกับระดับท้องถิ่น ที่จะหาโซลูชั่นที่ผลักดันนวัตกรรมได้มากขึ้น กับอีกเซ็กเตอร์คือด้านประชาชน ในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การทำมาค้าขาย เป็นเรื่องที่พยายามจะทำให้เป็นรูปเป็นร่างในปีนี้

ที่ท้าทายคือต้องทำให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืน ไม่มีงบฯประจำซัพพอร์ต

Q : แนวทางส่งเสริมสตาร์ตอัพ

ได้ตั้งสถาบันสตาร์ตอัพแล้ว โดยทำงานกับ venture capital (VC) ไทยและต่างชาติ เพื่อทำให้เกิดการลงทุนในสตาร์ตอัพไทย จากทั้งหมดที่มีราว 1,500-1,600 รายเท่าที่มีข้อมูลอยู่ จะคัดให้เข้ามาอยู่ในพอร์ตที่ดีป้าควรส่งเสริมให้เกิดการสเกลได้ ตอนนี้ลงทุนไปแล้ว 54 สตาร์ตอัพ ถือเป็นกองทัพที่จะต้องบ่มเพาะให้เข้มข้นขึ้น

แต่การไป pitching ในเวทีนานาชาติ จะไม่ได้จัดทัวร์พาไปเที่ยว แต่ดีป้าจะประกาศรายชื่อเวทีสำคัญที่น่าสนใจ เพื่อเปิดรับสตาร์ตอัพไทยให้เข้ามาแข่งขันขอรับทุนสนับสนุนไปร่วมงาน ซึ่งจะให้แค่ 5 ราย และให้แค่ตั๋วเครื่องบินกับที่พัก ที่เหลือสตาร์ตอัพจะต้องออกเงินเองทั้งหมด เพราะทุกคนต้องมีความพยายามและเป็นมืออาชีพเหมือนนักธุรกิจทั่ว ๆ ไป ที่จะไม่ได้เงินไปง่าย ๆ

และเรามีเป้าหมายทุกปีว่า จากสตาร์ตอัพในพอร์ต จะต้องก้าวไปอยู่ในระดับซีรีส์ A 2 ราย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็ได้ตามเป้า

Q : เมื่อไรไทยจะมียูนิคอร์น

เป็นเป้าหมายในระยะยาว เพราะไม่สามารถทำให้เกิดบริษัทแบบ SET TOP-50 ได้ภายใน 1 ปี คนที่พูดบอกว่าจะมียูนิคอร์นเกิดขึ้น จะต้องคิดว่าเราจะสร้างเขามาได้อย่างไร อย่างสตาร์ตอัพซีรีส์ A เกิดขึ้นได้เพราะไปสเกลในตลาดอาเซียน และมีโอกาสได้ระดมทุน แต่ดีป้าก็ได้พยายามที่จะแก้ไขอุปสรรคไปพร้อมกันด้วย อย่างข้อเสนอ white paper เรื่องแก้กฎหมายของสมาคมเทคสตาร์ตอัพ ก็นำมาดูว่าอะไรที่ต้องเร่งแก้ อย่างการอนุญาตการถือหุ้น การขายหุ้น หรือธุรกิจที่สงวนสำหรับคนไทย ซึ่งเมื่อเราปลดล็อกตรงนี้สตาร์ตอัพต่างชาติก็จะเข้ามาได้ด้วย ก็จะเกิดการควบรวมหรือ JV ระหว่างบริษัทไทยกับต่างชาติ ก็เป็นอีกแนวทางที่จะทำให้เกิดยูนิคอร์นได้

อีกอย่างที่กำลังมองคือ สตาร์ตอัพไทยอาจจะต้องติดกฎระเบียบบางอย่างที่ต้องใช้เวลาแก้ไข ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายองค์กรกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม การคลัง ฉะนั้นทำไมต้องไปรอ ก็ผลักดันให้ไปโตข้างนอกประเทศก่อน แล้วค่อยกลับมาขายบริการในไทย หลายธุรกิจก็เป็นแบบนี้ อย่างหุ่นยนต์ “น้องดินสอ” ก็ไปทำตลาดญี่ปุ่นก่อนจะกลับมาทำตลาดในไทย

Q : ยังถูกมองว่าส่งเสริมยังไม่สุดทาง

เราพยายามทำให้เกิดกระบวนการของภาครัฐที่จะไปใช้บริการของสตาร์ตอัพ อย่างการทำ hackatax กับกรมสรรพากร เพื่อระดมสมองสตาร์ตอัพในการหาโซลูชั่นใหม่ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกำลังจะมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาฯ สาธารณสุข เพราะเมื่อสตาร์ตอัพมีรายได้จากภาครัฐจะเกิดความมั่นคง ทำให้การสเกลต่อได้ อย่างอินโดนีเซียทำสำเร็จในเรื่องนี้และขับเคลื่อนให้เกิดยูนิคอร์นได้ เขากำหนดไว้เลยว่ารัฐต้องใช้บริการของสตาร์ตอัพ 30% เพื่อให้สตาร์ตอัพเจริญและเติบโตได้ เกิดการพัฒนา deep tech เพื่อนวัตกรรมที่ดีขึ้นไปอีก

เราพยายามวางนโยบายนี้และดีลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยกัน แล้วดึงสตาร์ตอัพมาให้เจอปัญหาจริง ๆ ของแต่ละหน่วยงานเพื่อหานวัตกรรมมาแก้ปัญหา จับแมตชิ่งกัน นี่คือการทำงานหลังบ้านมาตลอด เพื่อให้สตาร์ตอัพโตไปถึงอนาคตได้