ไม่รอให้เกิดปัญหา! กสทช. ตั้งคณะทำงานร่วม BTS-เอไอเอส-กรมราง-BEM ป้องกันคลื่น5Gกวนรถไฟฟ้า

กสทช. ตั้งคณะทำงานร่วม BTS-เอไอเอส-กรมราง-BEM สกัดปัญหาคลื่น 5G กวนระบบอาณัติสัญญาณ รถไฟฟ้า  แม้เบื้องต้นเทสต์แล้วยังไม่พบปัญหาคลื่นกวนกัน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ระบบสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าใช้งานช่วงคลื่นความถี่ย่าน 2400 ถึง 2500 MHz ซึ่งใกล้เคียงกับคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือเอไอเอสชนะประมูล  จึงมีความกังวลเรื่องปัญหาการรบกวนของคลื่นความถี่

กสทช. จึงจัดประชุมหาแนวทางการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าอย่างบูรณาการ ระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง , บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS , AWN , การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

ทั้งนี้ ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานประสานงานและติดตามการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2500 MHz โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากตัวแทนทั้ง 5 หน่วยงานข้างต้น เพื่อให้ติดตามผลการดำเนินงาน และหากเกิดปัญหาการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้า ก็จะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ทันที

ด้าน นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า   AIS และรถไฟฟ้า BTS ได้ศึกษาและทดสอบการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนไทยในการใช้งานระบบสื่อสารและระบบขนส่งมวลชน ทั้งยังทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐอย่างกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา AIS ได้ทำการทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลในการป้องกันปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ในทุกเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ขยายเครือข่ายทั้ง 4G และ 5G ซึ่งจากการทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างใด

อีกทั้ง นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS กล่าวว่า ในเบื้องต้น ได้ทำการทดสอบระบบร่วมกันกับ AIS แล้ว แต่ยังไม่พบการรบกวนสัญญาณใดๆ ในขณะเดียวกัน ได้สั่งซื้อ Filter ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริเวณ 700 จุดเดิมในก่อนหน้านี้ ที่มีการติดตั้งเพื่อป้องกันการรบกวนของคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการติดตั้งประมาณ 5 เดือน